วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา

หมู่เกาะตะรุเตาเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ที่ผมได้เขียนบรรยาย แนะนำให้มาท่องเที่ยว เมื่อช่วงไฮซีซัน ปี50-51 นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติเยอะมากๆ เลยครับ จากคำบอกเล่าพี่อั้น เจ้าของบริษัทเดินเรือชื่อดัง ไทเกอร์ไลน์ น้ำทะเลแถวอาดัง หลีเป๊ะสวยมั๊กมาก เป็นชายหาดติด 5 ดาว 1 ใน 4 ของประเทศไทยเลยทีเดียว อีกสาเหตุคือ รายการโทรทัศน์ชื่อดัง Survivor ได้มาปักหลักถ่ายทำที่ตะรุเตาเป็นเดือน ทำให้ผู้ชมรู้จักและมาเที่ยวที่นี่กันมากขึ้น แล้วคนไทยอย่างเราๆท่านๆ ไม่คิดจะแวะมาเยี่ยมเยียนกันบ้างหรือ Highlight สำคัญอยู่ที่ เกาะหลีเป๊ะ หรือ Koh Lipe เกาะนี้อยู่ห่างจากฝั่งมาก นั่งเรือนานพอดู เนื่องจากอยู่ห่างจากฝั่งมาก ทำให้หาดทรายและน้ำทะเลแถวนี้ สวยสุดๆ คลิกดู รูปภาพเกาะหลีเป๊ะ

ปัจจุบันที่พักก็มีกันเยอะกว่าหลายปีก่อนมาก เช่น บันดาหยารีสอร์ท รีสอร์ทติดแอร์ มีไวไฟให้ใช้ด้วย หรือราคาถูกมาหน่อยก็ ตะรุเตาคาบาน่า

เรามารู้จักหมู่เกาะแห่งนี้กันสักหน่อย
หมู่เกาะตะรุเตา ตั้งอยู่ในฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดสตูล หมู่เกาะตะรุเตาประกอบด้วยเกาะตะรุเตาซึ่งใหญ่ที่สุด เกาะอาดัง และเกาะราวี นอกจากนี้ยังมีเกาะเล็กเกาะน้อยเรียงรายอยู่โดยรอบเกาะตะรุเตาอยู่ห่างจากฝั่ง 26 กม. และห่างจากเกาะลังกาวีประเทศมาเลเซีย 5 กม. ตะรุเตาจริงๆ แล้วเป็นภาษามาเลย์ แปลว่า ลึกลับ เกาะแห่งนี้เคยเป็นที่คุมขังนักโทษการเมือง ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากนั้นก็ถูกทิ้งร้างมานาน จนกระทั่งจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2517

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา

“ตะรุเตา” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “ตะโละเตรา” ในภาษามลายู แปลว่า มีอ่าวมาก ตะรุเตา เป็นอุทยานแห่งชาติ ที่อยู่ในทะเลอันดามัน บริเวณช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย ในท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ด้านใต้ของเขตอุทยานแห่งชาติ ห่างจากชายแดนไทย-มาเลเซีย เพียง 4.8 กิโลเมตร อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ในความใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากเป็นจุดรวมของ ความงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ ทั้งบนเกาะ และในน้ำ มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ในน้ำก็งดงาม ด้วยกลุ่มปะการังหลากสี สวยสด จนเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วย เกาะน้อยใหญ่จำนวน 51 เกาะ รวมทั้งพื้นที่บนเกาะ และทะเลประมาณ 931,250 ไร่ หรือ 1,490 ตารางกิโลเมตร

พุทธศักราช 2479 มีการประกาศพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้าย กรมราชทัณฑ์จึงหาสถานที่ที่มีภูมิประเทศเหมาะสม ซึ่งในที่สุดได้เลือกเกาะตะรุเตาและจัดตั้งขึ้นเป็นทัณฑสถาน โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2480 กลุ่มบุกเบิกของกรมราชทัณฑ์ ภายใต้การนำของขุนพิธานทัณฑทัย ได้ขึ้นสำรวจเกาะตะรุเตาบริเวณอ่าวตะโละอุดังและอ่าวตะโละวาว เพื่อจัดทำเป็น “ทัณฑสถาน” โดยฟันฝ่าอุปสรรคทางธรรมชาตินานัปการเป็นเวลา 11 เดือน งานบุกเบิกจึงสิ้นสุดลง หลังจากเดือนมิถุนายน 2481 เกาะตะรุเตาก็เป็นทัณฑสถานและเป็นนิคมฝึกอาชีพของนักโทษเด็ดขาด และนักโทษผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบนเกาะนี้ เพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 หน้า 566 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2482 ปลายปี พ.ศ.2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมืองจากคดี กบฏบวรเดช (พ.ศ.2476) และกบฏนายสิบ (พ.ศ.2478) จำนวน 70 นาย มายังเกาะตะรุเตาซึ่งถูกกักบริเวณไว้ที่อ่าวตะโละอุดัง

ทะเลตะรุเตายังบริสุทธิอยู่มาก ควรอยู่พักสัก 2 คืน บนอุทยานเองมีที่พักบังกะโลเรือนไม้ หรือเต็นท์ก็มีให้เข่า ผมเองก็เห็นมีอยู่หลายหลังเหมือนกัน ห้องน้ำนี้เพิ่งสร้างเสร็จครับปูกระเบื้องอย่างดี สะอาดครับรับรอง ผมเองก็ได้ใช้บริการมา ในที่ทำการอุทยานมีจัดโชว์ เรื่องราวต่างรวมทั้งประวัติเกาะ ผมเองดูแล้วไม่ค่อยน่าสนใจ ก็เลยเดินออกมา แถวชายหาดแลดูร่มรื่นน่านั่งพักผ่อนมากกว่า
ในช่วงเช้า เราสามารถเช่าเรือหางยาวล่องคลองพันเตมะละกา ซึ่งสองข้างทางเป็นป่าโกงกางอันอุดมสมบูรณ์ และเป็นอยู่ของนกและสัตว์น้ำป่าชายเลนหลายชนิด จากที่นี่ประมาณ 20 นาที ก็จะถึงถ้ำจระเข้ (คนที่อุทยานเล่าว่า ในอดีตมีจระเข้น้ำเค็มขนาดใหญ่ อาศัยอยู่ในถ้า แต่ปัจจุบันกลายเป็นกระเป๋าหนังไปแล้ว)) ในถ้ำมีสะพานไม้ให้พวกเราชมหินงอกหินย้อย และมีตะเกียงเจ้าพายุให้บริการ

อ.ปาย

ปาย เมืองเล็ก ๆ ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยขุนเขา สูงตระหง่านเป็นรอยต่อชายแดนไทย-พม่า ฤดูหนาวอากาศเย็นจัด เมืองเล็กๆแห่งนี้มักปกคลุมด้วยสายหมอก ละอองน้ำจางๆยามเช้า บรรยากาศอันเงียบสงบ ทุ่งนาสีเขียว ท้องฟ้าสีคราม กับแสงแดดอุ่นๆ ที่ทอดผ่านม่านหมอกหนา แลเห็นต้นสนไม้ยืนต้นเมืองหนาวสูงใหญ่เป็นทิวแถวตามเชิงเขา วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของผู้คน ด้วยความเป็นเอกลักษณ์นี้ ปายได้ดึงดูดนักเดินทางรวมทั้งตัวผมเองให้มาสัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งนี้
ครั้นเมื่อมาถึงที่นี่ครั้งแรก ทำให้ผมย้อนนึกถึงบรรยากาศคล้ายๆ วังเวียงที่ลาวยังไงอย่างนั้นเลยทีเดียว เดิมที ปาย จะเป็นเพียงทางผ่านของผม ซึ่งเลือกที่จะเดินทางโดยรถยนต์ จากเชียงใหม่ สู่แม่ฮ่องสอน (จริงๆ แล้ว ก็จากกรุงเทพฯ เลยครับ) แต่หลังจากที่ได้อ่านหนังสือท่องเที่ยวอยู่หลายเล่ม...อดไม่ได้ครับที่จะต้องแวะพัก 1 คืน (ที่พักปาย) ตั้งใจจะสำรวจก่อนผ่านไปเฉยๆ ในทริปครั้งแรกของผม ซึ่งก็ผ่านมาแปดปีมาแล้ว

ปาย ในรอบสองของผมนี้ คือ จุดหมายปลายทาง ไม่ใช่ทางผ่านอีกต่อไป ตั้งใจจะสำรวจให้ทั่วๆ สักที รอบนี้จึงมีรูปสถานที่ท่องเที่ยวมาฝากกันเยอะทีเดียว.... รอบสองนี้เมื่อปลายปี 48 นี้เอง อยากชมรูป คลิก รูปปาย นี้เลย

และแล้ว ปลาย พ.ย. ปี 50 ล่าสุดนี้ ปายรอบที่ 3 ผมประมวลภาพ ตัวเมืองปายแบบระเอียด ตามซอยตามมุม บวกรีสอร์ทใหม่ๆ ถึงใหม่ที่สุด อีกเพียบ แถมข้อมูล บ้านวัดจันทร์ อีก อ้อ...คงอยากรู้แล้วซิว่า บ้านวัดจันทร์ คืออะไร คลิกนี้เลย บ้านวัดจันทร์ เออ...ลืมบอกไป 5 รูปแรกในหน้าเว็บนี้...ผมถ่ายที่ บ้านวัดจันทร์ครับ





ปายได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งยุโรป ญี่ปุ่น มานานแล้ว สำหรับคนไทยแล้ว เพิ่งบูม 2 -3 ปีที่ผ่านมา สำหรับปีใหม่ปีนี้ ที่ปายนั่งท่องเที่ยวเยอะเป็นพิเศษ ที่พักหลายที่เต็มไปตั้งแต่ ปลายเดือนตุลาคม ฝนยังไม่หมดดีเลย ก็เต็มกันซะแล้ว ช่วงวันหยุดต่อเนื่องยาวๆ เดือนธันวา โดยเฉพาะปลายปี อันนี้ไม่แนะนำให้ไปครับ นักท่องเที่ยวเยอะมากเกินไป ต้องไปแย่งเข้าคิวกันทานอาหาร แถมยังราคาที่พักก็สูงกว่าปกติเป็นพิเศษ คงไม่สนุกแน่ ยังมีอะไรอีกเยอะ....อ่าน ถามตอบเรื่องปาย ได้ที่นี่

พักผ่อนอย่างจริงจัง สัก 2- 3 วัน คงจะดีไม่น้อย จิบกาแฟร้อนๆ อ่านหนังสือดีๆสักเล่ม ริมระเบียงรีสอร์ท บางทีจะติดริมน้ำ หรือริมทุ่งคงจะดีไม่น้อย นั่งทอดสายตาไปไกลๆ ท่ามกลางทะเลหมอกยามเช้า คุณอาจได้ไอเดีย ดีๆ กลับมาเริ่มต้นปีใหม่อย่างที่ไม่เคยมาก่อน

สถานที่เที่ยวแห่งนึงที่ไม่ควรพลาดหากผ่านมาจากเชียงใหม่(ถนนสายแม่มาลัย) คือ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง (Huai Nam Dang National Park) รอบที่ 3 นี้ผมเองก็พักที่อุทยานฯที่นี่ 1 คืน ก่อนไปปาย อีกแห่งที่ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลมาคือ โครงการเกษตรที่ราบสูงบ้านวัดจันทร์ แต่เข้าไปลำบากหน่อย 38 กม.ได้ ทางคดเคี้ยวขึ้นเขา น้องๆ กับทางที่มาเชียงใหม่-ปาย เลยทีเดียว จุดเด่นคือ บรรยากาศยามเย็นและเช้า อากาศสดชื่นบนที่ราบสูง ป่าสนธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ วิถีชีวิตชาวเขาปากะญอ โครงการเกษตรต่างๆ แต่ที่บ้านวัดจันทร์นี้ไม่เหมาะกับคนที่เบื่อการนั่งรถ และชอบความสะดวกสบาย

แหล่งท่องเที่ยว ปาย คลิกได้เลย....หากมีเวลาจำกัด ผมขอแนะนำเพิ่มอีกเล็กน้อย โป่งน้ำร้อนท่าปาย วัดน้ำฮู น้ำตกหมอแปง พระธาตุแม่เย็น สะพานประวัติศาสตร์ วัดกลาง ถนนคนเดิน (มีแต่ตอนเย็น 5โมง-3 ทุ่ม อันนี้พลาดไม่ได้) สำหรับคนที่ไม่มีเวลาไม่อยากยุ่งยากสามารถเดินทางไปกับ บริษัททัวร์ต่างๆ ได้ SilverStone Tour มีทัวร์ไปปายทุกวัน ลองดูรายละเอียดปาย หรือโทร: 02-7047067 โทรสาร: 02-7373202 (อ้างชื่อไทยทัวร์ จะได้ราคาพิเศษ) หรือดู ทัวร์ปาย




เรารอคุณอยู่ เน้อ...


นอกจากเที่ยวแล้ว เขามาทำอะไรกันที่ปาย
หากเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ล่องแก่งลำน้ำปายน่าจะเป็นกิจกรรมต้นๆ รองลงไปก้อ...ขี่ช้าง เดินป่า และปั่นจักรยานชมเมืองปาย แช่น้ำแร่ท่ามกลางขุนเขาแห่งธรรมชาติ แต่สำหรับผม ขอเลือกเที่ยวและถ่ายรูปไปเรื่อยๆ ดีกว่า





ปั่นจักรยานชมเมืองปาย
เส้นทางปั่นจักรยานสาย เชียงใหม่-แม่มาลัย-ปาย เป็นเส้นทางที่ท้าทายนักปั่นเสือภูเขา เส้นทางคดเคี้ยว เลาะเลี้ยวไปตามหุบเขา สองข้างทางรายล้อมไปด้วยพืชพรรณไม้และป่าเขาลำเนาไพร เขตติดต่อระหว่าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่และอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แวะชื่นชมทิวทัศน์อัน สวยงามของทะเลหมอกที่ ห้วยน้ำดัง จักรยาน จะมาหาเช่าใน อำเภอปาย ก็ได้ ซึ่งก็มีร้านจักรยานให้เช่าแก่นักท่องเที่ยวอยู่หลายร้าน

นั่งช้าง ชมไพรใน อ.ปาย
กิจกรรมที่บริการให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินในการชมธรรมชาติ อีกอย่างหนึ่งคือ นั่งช้าง ท่านสามารถติดต่อบริการนั่งช้างได้ที่ ปางช้างบ้านท่าปาย ใกล้กับท่าปายสปาแค้มปิ้งรีสอร์ท เป็นเส้นทางเดียวกับการไปน้ำพุร้อนบ้านท่าปาย
ค่าบริการนั่งช้าง ชั่วโมงละ 500 บาท นั่งได้สองคนต่อช้าง 1 เชือก

ล่องแก่ง แม่น้ำปาย
แม่น้ำปายเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีต้นกำเนิดมาจากทิวเขาถนนธงชัย และแดนลาว แล้วไหลผ่าน 3 อำเภอในจังหวัดเดียว คือ อ.ปาย-อ.ปางมะผ้า-อ.เมือง ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน แต่ละช่วงมีทิวทัศน์ที่สวยงาม
การล่องแก่งแม่น้ำปาย รวมระยะทางประมาณ 50 กิดลเมตร ความยากของแก่งมีตั้งแต่ระดับ 1-4 ช่วงฤดูฝนอาจจะถึงระดับ 5 ซึ่งมีความยากมาก และระดับน้ำรุนแรง นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสธรรมชาติที่สวยงามและความสนุกสนานตลอดสายน้ำ เช่น เล่นน้ำตกซู่ซ่า ผจญภัยแช่ตัวในบ่อดคลน กระโดดหน้าผาสูง ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการล่องแก่ง คือ เดือนมิถุนายน-กุมภาพันธ์ของทุกปี การล่องแก่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่น

ล่องแพยาง
อำเภอปาย นับว่าเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้ริเริ่มกิจกรรมนี้ การล่องแพยางไปตามสายน้ำ แม่น้ำปาย เป็นแม่น้ำที่มีเกาะแก่งมากที่สุดและสวยงาม มาก เป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองนี้มักจะไม่พลาด การล่องแพท่านสามารถเลือกได้ ในโปรแกรม 1 วัน หรือ 2 วัน โดยส่วนใหญ่โปรแกรมการล่องแก่งจะไปเริ่มที่ลำน้ำของ ในเขต อ.ปางมะผ้า และไปสิ้นสุดที่ลำน้ำปายในพื้นที่ของที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ บ้านปางหมู อ.เมือง แม่ฮ่องสอน ในระหว่างการล่องแก่งท่านจะได้พบกับความสนุกตื่นเต้น การตั้งแค้มป์ในป่า การแช่โคลนจากบ่อน้ำพุร้อนตามธรรมชาติ เพื่อผิวพรรณเปล่งปลั่ง กิจกรรมการล่องแก่ง จะมีในช่วงเดือน ต้นเดือนมิถุนายนและไปสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ของปีต่อไป ในช่วงถดูแล้งน้ำน้อยจะไม่สามารถล่องแก่งได้ ก่อนการล่องแพท่านจะได้รับการฝึกการพายเรือ และการแนะนำ วิธีการปฏิบัติในการพายแพยางอย่างละเอียดจากผู้คัดท้ายเรือ หรือที่เรียกว่า กัปตัน การล่องแพควรจะนัดแนะกับเพื่อนเพราะแพยางลำหนึ่งต้องมีผู้ร่วมพายอย่างน้อย 4 คน

ดอยอ่างขาง

เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณกิโลเมตรที่ 137 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าบ้านยางที่ตลาดแม่ข่า เข้าไปอีกประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นทางลาดยาง สูงและคดเคี้ยว ต้องใช้รถสภาพดีและมีกำลังสูง คนขับชำนาญ หรือจะหาเช่ารถสองแถวได้ที่ตลาดแม่ข่า

ลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะทำให้อากาศบนดอยหนาวเย็นตลอดปีโดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อากาศเย็นจนน้ำค้างกลายเป็นน้ำค้างแข็ง นักท่องเที่ยวจึงควรเตรียมเครื่องกันหนาวมาให้พร้อม เช่น หมวก ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อกันหนาว
สถานที่น่าสนใจบนดอยมีหลายแห่ง ได้แก่
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง เรื่องกำเนิดของสถานีฯ แห่งนี้เป็นเกร็ดประวัติเล่ากันต่อมาว่าครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จทางเฮลิคอปเตอร์ผ่านยอดดอยแห่งนี้และทอดพระเนตรลงมาเห็นหลังคาบ้านคนอยู่กันเป็นหมู่บ้าน จึงมีพระดำรัสสั่งให้เครื่องลงจอด เมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงมาทอดพระเนตรเห็นทุ่งดอกฝิ่น และหมู่บ้านตรงนั้นก็คือหมู่บ้านของชาวเขาเผ่ามูเซอซึ่งในสมัยนั้นยังไว้แกละถักเปียยาว แต่งกายสีดำ สะพายดาบ พระองค์มีพระราชดำรัสที่จะแปลงทุ่งฝิ่นให้เป็นแปลงเกษตร สถานีฯ จึงเกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2512มีโครงการวิจัยผลไม้ ไม้ดอกเมืองหนาว งานสาธิตพืชไร่ พืชน้ำมัน โดยมุ่งที่จะหาผลิตผลที่มีคุณค่าพอที่จะทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวเขา และทำการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมแก่ชาวเขาในบริเวณใกล้เคียง




















พรรณไม้ที่ปลูก
- ไม้ผล เช่น บ๊วย ท้อ พลัม แอปเปิล สาลี่ พลับ กีวี องุ่น ราสป์เบอร์รี กาแฟพันธุ์อาราบิกา นัตพันธุ์ต่างๆ
- ไม้ดอก เช่น แกลดิโอลัส เยอบีราพันธุ์ยุโรป สแตติส ยิบโซฟิลลา คาร์เนชั่น อัลสโตรมีเรีย ลิลี ไอริส แดฟโฟดิล
- ผัก เช่น ซูกินี เบบีแครอต กระเทียมต้น หอมญี่ปุ่น ผักกาดฝรั่ง แรดิช เฟนเนล มันฝรั่ง ถั่วแดงหลวง และถั่วพันธุ์อื่นๆ

ในพื้นที่ดอยอ่างขางยังมีการฟื้นฟูสภาพป่าโดยตรง ด้วยการปลูกป่าด้วยพรรณไม้หลายชนิด ละการทิ้งพื้นที่แนวป่าให้พรณไม้เกิดและเติบโตเองโดยธรรมชาติ มีทั้งพรรณไม้ท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ไม้ก่อ แอปเปิลป่า นางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระ และพรรณไม้โตเร็วจากไต้หวัน 5 ชนิด คือ กระถินดอย เมเปิลหอม การบูร จันทน์ทอง และเพาโลเนีย

ที่สถานีฯยังเป็นแหล่งเที่ยวชมวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านชาวไทยภูเขาต่างๆ ได้แก่ เผ่ามูเซอดำ ปะหล่อง และจีนฮ่อ รวมทั้งชมความงามตามธรรมชาติของผืนป่า กิจกรรมดูนกซึ่งมีนกทังนกประจำถิ่นและนกหายากต่างถิ่น พร้อมผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย งานส่งเสริมเกษตรกรจำหน่ายใต้ตราสินค้า "ดอยคำ" และที่พักทั้งในรูปแบบรีสอร์ท บ้านพักแบบกระท่อมและลานกางเต็นท์พร้อมอาหารและเครื่องดื่มบริการ

















สวนบอนไซ อยู่ในบริเวณสถานีฯ เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้เขตอบอุ่นและเขตหนาวทั้งในและต่างประเทศ ปลูก ดัด แต่ง โดยใช้เทคนิคบอนไซ สวยงามน่าชม และในบริเวณเดียวกันยังมีสวนสมุนไพร ฤดูท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม

หมู่บ้านคุ้ม ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีฯ เป็นชุมชนเล็ก ๆประกอบด้วยผู้อยู่อาศัยหลายเชื้อชาติอยู่รวมกัน อาทิชาวไทยใหญ่ ชาวพม่าและชาวจีนฮ่อ ซึ่งได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้และเปิดร้านค้าบริการแก่นักท่องเที่ยว
จุดชมวิวกิ่วลม อยู่ทางด้านซ้ายมือก่อนถึงทางแยกซึ่งจะไปหมู่บ้านปะหล่องนอแลทางหนึ่ง และบ้านมูเซอขอบด้งทางหนึ่ง สามารถชมทะเลหมอกและวิวพระอาทิตย์ทั้งขึ้นและตก มองเห็นทิวเขารอบด้านและหากฟ้าเปิดจะมองเห็นสถานีเกษตรหลวงอ่างขางด้วย
หมู่บ้านนอแล ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า คนที่นี่เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่องเชื้อสายพม่า แต่เดิมคนกลุ่มนี้อยู่ในพม่าและพึ่งอพยพมา มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง นับถือศาสนาพุทธ ทุกวันพระผู้คนที่นี่หยุดอยู่บ้านถือศีล จากหมู่บ้านนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์สวยงามของธรรมชาติบริเวณพรมแดนไทย-พม่า

หมู่บ้านขอบด้ง เป็นที่ที่ชาวเขาเผ่ามูเซอดำและเผ่ามูเซอแดงอาศัยอยู่ร่วมกัน คนที่นี่นับถือผี มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวงในด้านการเกษตรและด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน (เช่น อาบูแค เป็นกำไลถักด้วยหญ้าไข่เหามีสีสันและลวดลายในแบบของมูเซอ)
บริเวณหน้าหมู่บ้านจะมีการจำลองบ้านและวิถีชีวิตของชาวมูเซอ โดยชาวบ้าน ครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้งช่วยกันสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มีโอกาสเรียนรู้และศึกษาวัฒนธรรมของหมู่บ้านโดยที่ไม่เข้าไปรบกวนความเป็นส่วนตัวของเขามากเกินไป และยังมีโครงการมัคคุเทศก์น้อยที่อบรมเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้งเพื่อช่วยอธิบายวิถีชีวิตของพวกเขาให้ผู้มาเยือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกและสร้างความรักในท้องถิ่นให้เด็ก ๆ ด้วย

หมู่บ้านหลวง ชาวหมู่บ้านหลวงเป็นชาวจีนยูนานที่อพยพมาจากประเทศจีนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก อาทิ ปลูกผักผลไม้ เช่น พลัม ลูกท้อ และสาลี่

กิจกรรมท่องเที่ยวบนดอยอ่างขาง มีหลายอย่างที่สามารถทำได้เช่น เดินเท้าศึกษาธรรมชาติ ขี่ล่อล่องไพร เป็นต้น

ภูชี้ฟ้า (เชียงราย)

เป็นส่วนหนึ่งของดอยผาหม่น อยู่ห่างจากดอยผาตั้ง 25 กิโลเมตร เป็นจุดชมวิวทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามราวภาพวาด ด้วยทิวทัศน์ของภูเขาสลับซับซ้อนดูกว้างไกล การจะเดินขึ้นไปชมทะเลหมอกควรจะขึ้นไปยอดภูตั้งแต่ฟ้ายังมืด เพราะเมื่อฟ้าเริ่มสว่างจะทำให้เห็นสายหมอกค่อย ๆ ก่อตัวเป็นภาพต่าง ๆ ดูสวยงามราวกับมีช่างวาดฝีมือมาแต่งแต้ม สร้างความประทับใจไปอีกนาน ภูชี้ฟ้า มีลักษณะเป็นยอดเขาที่แหลมชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้า อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,628 เมตร โดยมีหน้าผาเป็นแนวยาวยื่นไปทางฝั่งประเทศลาว บนยอดภูชี้ฟ้าเป็นทุ่งหญ้ากว้าง แซมด้วยทุ่งโคลงเคลงที่มีดอกสีชมพูอมม่วง ซึ่งจะบานระหว่างเดือนกรกฎาคม-เดือนมกราคม การเดินทาง อยู่ห่างจากเชียงราย 111 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 1020 เข้าสู่อำเภอเทิง จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 1155 จนถึงทางแยกขวาขึ้นสู่ภูชี้ฟ้า หรือใช้บริการรถโดยสารประจำทางสายเชียงราย-เทิง ลงรถที่อำเภอเทิง จากนั้นเช่ารถขึ้นไปภูชี้ฟ้า การเดินทางไปภูชี้ฟ้าโดยรถตู้ประจำทางสาย2402 เชียงราย-บ้านร่มฟ้าไทย(ภูชี้ฟ้า) ที่สถานีขนส่งจังหวัดเชียงราย ทุกวัน เวลา 7.15น.และ13.15น. คนละ 80 บาท [บริษัท ก.สหกิจเดินรถ จำกัด โทร. 0 5374 2429-31]<<เลือกในเอกสาร>>

ดอยผาตั้ง (เชียงราย)

เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดอยผาหม่น ซึ่งเป็นเทือกเขาแนวพรมแดนไทย-ลาว สูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ดอยผาตั้งถือเป็นเป็นจุดชมวิวไทย-ลาว และทะเลหมอกที่สวยงามไม่แพ้ภูชี้ฟ้า รถยนต์สามารถขึ้นเกือบถึงจุดชมวิวบริเวณเนินร้อยสามได้ บนจุดชมวิวจะเป็นแนวเขาซึ่งชมวิวได้ตลอดแนว นอกจากนั้นบนดอยยังมีจุดที่น่าสนใจ คือ ผาบ่อง ประตูสยามสู่ลาว เป็นช่องหินขนาดใหญ่คนเดินลอดได้อยู่ในแนวหน้าผา มองเห็นทิวทัศน์ประเทศลาวได้ ช่องเขาขาด เป็นช่องเขาที่หินขาดจากกันมองเห็นแม่น้ำโขงพาดผ่านตรงช่องเขาขาดพอดี โดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ดอกนางพญาเสือโคร่งและดอกเสี้ยวจะบานสะพรั่งงดงาม เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวจีนฮ่อ ม้ง และเย้า โดยเฉพาะจีนฮ่อนั้น อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของกองพล 93 ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ดอยผาตั้งนี้ และด้วยอากาศที่หนาวเย็นเหมาะแก่การทำการปลูกพืชเมืองหนาว ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนดอยผาตั้งจึงทำอาชีพเกษตร ปลูกบ๊วย ท้อ สาลี่ แอปเปิ้ล และชา ซึ่งจะให้ผลผลิตมากในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากทำให้เกิดการกระจายรายได้แก่ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี บนดอยผาตั้ง มีที่พัก สถานที่กางเต็นท์และร้านอาหาร สามารถไปเที่ยวได้ตลอดปี

การเดินทาง
จากจังหวัดเชียงราย ใช้เส้นทางเชียงราย-เวียงชัย –พญาเม็งราย –บ้านต้า (ทางหลวงหมายเลข 1233, 1173 และ 1152) 50 กิโลเมตร บ้านต้า-บ้านท่าเจริญ (ทางหลวง 1020 ) 45 กิโลเมตร บ้านท่าเจริญ-เวียงแก่น-ปางหัด (ทางหลวงหมายเลข 1155 ) 17 กิโลเมตร และปางหัด-ดอยผาตั้ง อีก 15 กิโลเมตร สภาพเส้นทางบางช่วงสูงชัน

อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง

อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ตั้งอยู่บนเทือกเขาถนนธงชัย มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอปายจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 179.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 112,187.5 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาและภูเขาสูงสลับซับซ้อน ภูเขาที่สูงที่สุด คือ ดอยช้าง เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีลำห้วยน้อยใหญ่มากมาย ฤดูหนาวอากาศเย็น ลมแรง มีฝนตกชุกในเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ฤดูร้อนอากาศเย็นสบาย อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 34 องศาเซลเซียส
สถานที่ที่มีผู้นิยมมาท่องเที่ยว ได้แก่
จุดชมวิวบริเวณห้วยน้ำดัง (ดอยกิ่วลม) ตำบลกึ๊ดช้าง อำเภอแม่แตง อยู่บริเวณที่ทำการอุทยาน เป็นจุดชมวิวที่สวยงามและมีชื่อเสียงมาก มองเห็นดอยเชียงดาว คอยชมพระอาทิตย์ขึ้นและชมทะเลหมอกในช่วงเช้าตรู่ได้ และในช่วงปลายฤดูหนาวดอกไม้กำลังบานสวยงามมาก
หมอกที่เกิดที่นี่คือ หมอกที่เกิดขึ้นในหุบเขา (Radiation Fog) เนื่องจากเวลากลางคืนในหุบเขาอุณหภูมิจะลดต่ำลง ทำให้เกิดการกลั่นตัวเป็นละอองน้ำ และปรากฏเป็นทะเลหมอกในเวลาเช้าหรือหลังฝนตก
ใกล้ ๆ กับที่ทำการจะมี เส้นทางศึกษาธรรมชาติเอื้องเงิน มีระยะทาง 1,470 เมตร ความลาดชันปานกลาง ใช้เวลาในการเดินประมาณ 1 ชั่วโมง
การเดินทาง ไปยังอุทยานฯ จากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง ระยะทางประมาณ 37 กิโลเมตร ถึงตลาดแม่มาลัย อ.แม่แตง แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1095 สายเชียงใหม่-ปาย อีกประมาณ 65 กิโลเมตร ถึงด่านตรวจอุทยานฯ ซึ่งอยู่ด้านขวามือเข้าไปอีก 6 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ และหากเดินทางต่อไปอีก 1 กิโลเมตร ถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หรือเดินทางโดยรถประจำทางจากสถานีขนส่งเชียงใหม่ สายเชียงใหม่-ปาย อัตราค่าโดยสาร 40 บาท/คน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง
ห้วยน้ำรู หรือ ดอยสามหมื่น ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว มีหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลีซอ ทัศนียภาพสวยงาม และชมการปลูกกาแฟและไม้ผลเมืองหนาว
การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 130 กิโลเมตร ใช้ถนนสายเชียงใหม่-ห้วยน้ำดัง และเลยเข้าไปทางห้วยน้ำดังอีก 20 กิโลเมตร ทางยังไม่ลาดยางใช้ได้เฉพาะฤดูแล้งเท่านั้น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง มีบ้านพักแต่ต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน ที่ส่วนอนุรักษ์ต้นน้ำ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0 2579 7586-7
นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่อยู่ในเขตอุทยานฯ ได้แก่ น้ำตกห้วยน้ำดัง โป่งน้ำร้อนท่าปาย น้ำตกแม่เย็น

วันปีใหม่

ในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน
การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นใน กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก

การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์

ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป

เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็คือ
1. ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่
1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
2. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
3. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ
วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น