วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

วิธีเตรียมตัวสอบ

1.ต้องเลิกเที่ยว เลิกดื่ม เลิกสร้างบรรยากาศที่ไม่ใช่การเตรียมสอบ เลิก chat ตอนดึกๆ เลิกเม้าท์โทรศัพท์นานๆ ตัดทุกอย่างออกไป ปลีกวิเวกได้เลย ต้องทำให้ได้ ถ้าไม่ได้อย่าคิดเลยว่าจะสอบติด ฝันไปเถอะ

2.ตัดสินใจให้เด็ดขาด ว่าต่อไปนี้จะทำเพื่ออนาคตตัวเอง บอกเพื่อน บอกพ่อแม่ บอกทุกคนว่า อย่ารบกวน ขอเวลาส่วนตัว จะเปลี่ยนชีวิต จะกำหนดชีวิตตัวเอง จะกำหนดอนาคตตัวเอง เพราะเราต้องการมีอนาคตที่กำหนดได้ด้วยตัวเอง ใช่หรือไม่

3.ถ้าทำ 2 ข้อไม่ได้ อย่าทำข้อนี้ เพราะข้อนี้คือ ให้เขียนอนาคตตัวเองไว้เลยว่า จะเรียนต่อคณะอะไร จบแล้วจะเป็นอะไร เช่น จะเรียนพยาบาล ก็เขียนป้ายตัวใหญ่ๆ ติดไว้ข้างห้อง มองเห็นตลอดเลยว่า เราจะเป็นพยาบาล จะเรียนแพทย์ก็ต้องเขียนไว้เลยว่า ปีหน้าจะไปเหยียบแผ่นดินแพทย์จุฬา อะไรทำนองนี้ เพื่อสร้างเป้าหมายให้ชัดเจน

4.เตรียมตัว สรรหาหนังสือ หาอาจารย์ติว หาเพื่อนคนเก่งๆ บอกกับเค้าว่าช่วยเป็นกำลังใจให้เราหน่อย ช่วยเหลือเราหน่อย หาหนังสือมาให้ครบทุกเนื้อหาที่จะต้องสอบ เตรียมห้องอ่านหนังสือ โต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ ให้พร้อม

5.เริ่มลงมืออ่านหนังสือ เริ่มจากวิชาที่ชอบ เรื่องที่ถนัด ก่อน ทำข้อสอบไปด้วย ทำแบบฝึกหัดจากง่ายไปยาก ค่อยๆ ทำ ถ้าท้อก็ให้ลืมตาดูป้าย ดูรูปอนาคตของตัวเอง ต้องลงมืออ่านอย่างจริงจัง อย่างน้อยวันละ 10 ชั่วโมง แล้วจะทำได้ไง วิธีการคือ อ่านทุกเมื่อที่มีโอกาส อ่านทุกครั้งที่มีโอกาส หนังสือต้องติดตัวตลอดเวลา ว่างเมื่อไรหยิบมาอ่านได้ทันที อย่าปล่อยให้ว่างจนไม่รู้จะทำอะไร ที่สำคัญอ่านแล้วต้องมีโน้ตเสมอ ห้ามนอนอ่าน ห้ามกินขนม ห้ามฟังเพลง ห้ามดูทีวี ห้ามดูละคร ดูหนัง อ่านอย่างเดียว ทำอย่างจริงจัง


6.ข้อนี้สำคัญมาก หากท้อให้มองภาพอนาคตของตัวเองไว้เสมอ ย้ำกับตัวเองว่า เราต้องกำหนดอนาคตของตัวเอง ไม่มีใครกำหนดให้เรา เราต้องทำได้ เพราะไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ให้กำลังใจกับตัวเองอยู่เสมอ บอกกับตัวเองอย่างนี้ทุกวัน หากท้อ ขอให้นึกว่า อย่างน้อยก็มีผู้เขียนบทความนี้เป็นกำลังใจให้น้องๆ เสมอ นึกถึงภาพวันที่เรารับปริญญา วันที่เราและครอบครัวจะมีความสุข วันที่คุณพ่อคุณแม่จะดีใจที่สุดในชีวิต ต่อไปนี้ต้องทำเพื่อท่านบ้าง อย่าเห็นแก่ตัว อย่าขี้เกียจ อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง เลิกนิสัยเดิมๆ เสียที

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

KOH CHANG

ไม่ว่าจะฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน หรือฤดูไหนๆ น้ำทะเลสวยๆ หาดทรายขาวละเอียดของ "อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง" หรือที่ใครๆ เรียกกันจนติดปากว่า เกาะช้างน้อย อึ๋ย!! ไม่ใช่ "เกาะช้าง" ยังคงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่แสนจะฮอตฮิตติดลมบนอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ที่ใครนึกอยากจะไปพักผ่อนคลายเครียดคิดถึง เนื่องจากสามารถไปเที่ยวตลอดทั้งปี เพราะความสวยงามของแต่ละฤดูจะแตกต่างกันออกไป

เกาะช้างมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากเกาะภูเก็ต แถมยังมีเกาะเล็ก เกาะใหญ่ มากกว่า 52 เกาะ ให้เลือกสรรว่าจะไปนอนกินลมชมวิวสวยๆ ที่ไหน อีกทั้งบนเกาะช้างยังมีกิจกรรมต่างๆ ให้ทำแบบไม่มีเหงา แต่เดิมเกาะช้างไม่มีชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัย หากมีความสำคัญในฐานะที่เป็นท่าจอดเรือหลบลมมรสุม เป็นแหล่งเสบียงอาหาร และน้ำจืดโดยเฉพาะบริเวณอ่าวสลักเพชร หรืออ่าวสลัด เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่โจรสลัด ชาวจีนไหหลำ และญวน ปัจจุบันบนเกาะช้างมีประชาชนอาศัยอยู่ 8 หมู่บ้าน และมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 650 ตารางกิโลเมตร เฉพาะ "เกาะช้าง" มีเนื้อที่ถึง 268,125 ไร่ หรือประมาณ 429 ตารางกิโลเมตร

สภาพโดยรวมบนเกาะช้างนั้น มีพื้นที่กลางเกาะเป็นภูเขา และป่าดิบชื้น มีที่ราบอยู่ตามขอบเกาะก่อนถึงชายหาดของอ่าวต่างๆ ที่ราบเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสวนมะพร้าว สวนยางพารา และสวนผลไม้อื่นๆ เช่น เงาะ ทุเรียน ส้มโอ ฯลฯ ตลอดจนเปิดเป็นที่พักของนักท่องเที่ยว แต่ส่วนใหญ่แล้วพื้นที่ของเกาะช้างเป็นภูเขาสูง มีหินผาสลับซับซ้อน มีสภาพสมบูรณ์ เป็นป่าดงดิบเขา ยอดเขาที่สูงที่สุด ได้แก่ ยอดเขาสลักเพชร สูงถึง 744 เมตร (โห... สูงมากๆ เลยอ่ะ) รองลงมา ได้แก่ เขาจอมปราสาท และเขาหอม ซึ่งภูเขาเหล่านี้ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำ ลำธารต่างๆ ที่ทำให้เกิดน้ำตกหลายแห่งบนเกาะนี้นั่นเอง


สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจบน "เกาะช้าง" ได้แก่...


ชายหาดที่แสนจะยาว แถมยังขาวสะอาดสมชื่อ อยู่ทางตอนใต้ของเกาะช้างใกล้กับอ่าวสลักเพชร มีลักษณะเป็นอ่าวที่มีหาดทรายทอดยาว นักท่องเที่ยวสามารถลงเล่นน้ำได้ตลอดทั้งแนว หรือจะเช่ารถจักรยาน มอร์เตอร์ไซด์ ขี่เล่นก็ไม่ว่ากัน เพราะที่นี่มีถนนราดยางอย่างดี ขนานยาวไปกับชายหาด เชื่อมถึงหาดอื่นๆ มีบังกะโลตั้งอยู่หลายแห่ง มีถนนรอบเกาะตัดชิดหาดมากที่สุด ยามค่ำคืนปรากฏแสงสีของร้านอาหาร ผับ บาร์ พร้อมที่พักราคาประหยัดเพียบ !!

หาดคลองพร้าว

หาดคลองพร้าวอยู่ถัดจากหาดทรายขาว มีความยาวต่อเนื่องไปจนถึงหาดไก่แบ้ ตอนเหนือสุดของอ่าวคลองพร้าวติดกับแหลมไชยเชษฐ์ ซึ่งมีแหลมหิน มีทัศนียภาพสวยงาม แต่ไม่สามารถเล่นน้ำได้ มีบังกะโลให้เช่าพักหลายแห่ง มีห้องพักที่ได้มาตรฐาน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม

เป็นหาดที่ยาวและมีความลาดมาก สามารถทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาริมหาดได้ เพราะมีหน้าหาดที่กว้าง และสะอาด ทางตอนเหนือสุดของเกาะ เป็นที่ตั้งของแหลมไชยเชษฐ์ ซึ่งเป็นแหลมหินแปลกตา (เห็นแล้วชวนแปลกใจ) เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมากหาดหนึ่งบนเกาะช้าง

อ่าวคลองสน

เป็นอ่าวขนาดใหญ่ อยู่ทางเหนือของเกาะฝั่งตะวันตก มีหาดทรายขาวละเอียด ชายหาดกว้างยาวดูสวยงามมากๆ เหมาะแก่การเล่นน้ำเป็นที่ซู้ด... แถมมีความเป็นส่วนตัว ผู้คนไม่พลุกพล่านอีกด้วย และเป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านคลองสน ใกล้บริเวณอ่าวมีแนวปะการังใต้น้ำ (แหะๆๆ ชักอยากไปแล้วสิ)


หาดไก่แบ้

หาดไก่แบ้ เป็นหาดที่ยาวต่อมาจากหาดคลองพร้าว นับว่าเป็นหาดยอดนิยมหาดหนึ่งของนักท่องเที่ยว เพราะสามารถลงเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย (สบายใจหายห่วง) มีบังกะโลราคาประหยัดให้เช่าหลายแห่ง บางแห่งมีจักรยานเสือภูเขาให้เช่า หน้าหาดมองเห็นเกาะหยวก เกาะมันนอกและเกาะมันใน

อ่าวใบลาน

อยู่ถัดขึ้นไปจากหาดไก่แบ้มีทางเท้าตัดผ่านภูเขาใช้เวลาเดินเท้าจากหาดไก่แบ้ประมาณ 1 ชั่วโมง ระหว่างทางสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของทิวเขา อ่าวใบลานมีลักษณะเป็นหาดทรายยาวเงียบสงบเหมาะแก่การเล่นน้ำ และพักผ่อนมากๆ เพราะเงียบสงบ

หาดบางเบ้า - หมู่บ้านประมงบางเบ้า

หาดบางเบ้า เป็นหมู่บ้านประมงที่น่าสนใจ บ้านพักอาศัยปลูกโดยการปักเสาลงในทะเล มีสะพานเชื่อมติดต่อถึงกันตลอดแนว (โห... ชักอยากเห็นแล้วสิ) บรรพบุรุษของคนที่นี่ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายจากชาวสลักเพชร ดำรงชีวิตเรียบง่ายด้วยการทำประมงขนาดเล็กชายฝั่ง เป็นแหล่งปลาหมึกหอมชุกชุม นอกจากนั้นที่นี่ยังเป็นจุดที่อยู่ปลายเกาะช้าง มีแหล่งปะการังใต้น้ำ มีโปรแกรมแพ็คเก็จทัวร์ไปยังเกาะต่างๆ เช่น เกาะขาม เกาะหมาก เกาะรัง เกาะเหลายา ฯลฯ ให้เลือกมากมาย

นักท่องเที่ยวที่นิยมมาทานอาหารทะเลสดๆ ราคาถูกที่นี่ บริเวณหมู่บ้านตลอดสองข้างทางยังมีของที่ระลึกจากชาวบ้านวางเรียงราย เพื่อให้นักท่องเที่ยวเลือกช็อปเลือกชมกันอีกด้วย โดยเฉพาะกะปิ น้ำปลา กุ้งแห้ง ปลาเค็ม ของขึ้นชื่อ

น้ำตกธารมะยม

น้ำตกธารมะยม อยู่หลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กช.1 (ธารมะยม) ไปประมาณ 400 เมตร ปากทางเข้าอยู่ฝั่งตรงข้ามกับที่ทำการหน่วยฯ ทางเดินเข้าเป็นทางปูน ผ่านสวนผลไม้ของชาวบ้าน เดินผ่านสวนเข้าไปประมาณ 500 เมตร เป็นน้ำตกขนาดกลาง มี 4 ชั้น ลักษณะเป็นธารน้ำไหลผ่านมาเป็นชั้นๆ ตามร่องหินแกรนิตสีดำ มีหน้าผาสูงชันจนเกือบตั้งฉากบริเวณโดยรอบเป็นป่าดงดิบ อากาศร่มเย็นสบาย เหมาะแก่การตั้งแคมป์และเล่นน้ำตก

ที่สำคัญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จประพาสมายังน้ำตกนี้ โดยมีพระปรมาภิไธยย่อ จปร. และ วปร. สลักอยู่ที่หน้าผาน้ำตกชั้นบน นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียงยังมีหมู่บ้านชาวประมงที่มีสภาพป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์และเป็นป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดของเกาะช้าง คือ หมู่บ้านสลักคอก ซึ่งเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตดั้งเดิมที่น่าสนใจ


บ้านสลักคอก

บ้านสลักคอกตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านตะวันออกของเกาะช้าง ในเขตตำบลเกาะช้างใต้ เป็นหมู่บ้านชาวประมงชายฝั่งที่ยังคงสภาพวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมแบบดั้งเดิมเอาไว้ อีกทั้งยังมีป่าชายเลนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะช้าง จำนวน 650 ไร่ ที่สำคัญเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จเยี่ยมและทรงประทับรอยพระบาท เพื่อสร้างพระอุโบสถพร้อมกับพระราชทานนามวัดสลักคอกว่า "วัดวัชคามคชทวีป"

บ้านสลักคอก ยังมีชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก โดยจะมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินมากมาย เช่น การพายเรือคายัคชมธรรมชาติอ่าวสลักคอก หรือจะนั่งเรือชมความสวยงามของอ่าวสลักคอก และที่เด็ดสุดคือ นั่งเรือชมบรรยากาศยามเย็น ยามค่ำคืนของอ่าวสลักคอก พร้อมรับประทานอาหารเย็นบนเรือ เรียกได้ว่าโรแมนติกสุดๆ

น้ำตกคลองพลู

น้ำตกคลองพลู หรือ น้ำตกเมฆภูผา อาจมาจากคำว่า คลองภู ซึ่งเป็นชื่อยอดเขา "ภูผาเมฆสวรรค์" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสถึง 2 ครั้ง ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ห่างจากชุมชนอ่าวพร้าวประมาณ 3 กิโลเมตร ทางเข้าอยู่ห่างจากอ่าวคลองพร้าว 3 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินป่าอีกประมาณ 20 นาที เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงามที่สุดของเกาะช้าง แบ่งออกเป็น 3 ชั้น มีน้ำตกไหลผ่านหน้าผาลงแอ่งเบื้องล่างตลอดทั้งปี

น้ำตกคลองนนทรี

น้ำตกคลองนนทรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะช้าง เป็นน้ำตกที่มีชั้นเล็กๆ คล้ายน้ำตกแม่กลาง มีทางเดินเท้าจากบ้านด่านใหม่เข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร หรือจากที่ทำหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กช.1 (ธารมะยม) ไปเป็นระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร


อ่าวสลักเพชร - บ้านสลักเพชร และเก่าแก่ที่สุดบน เกาะช้าง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะ ชาวบ้านประกอบอาชีพทำการประมงชายฝั่ง มีเกาะช้างและทิวเขาโอบล้อมช่วยกำบังคลื่นลมได้ดี หน้าหมู่บ้านมีวัดเก่าแก่ คือ วัดสลักเพชร สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเกาะช้าง และอ่าวสลักเพชรเป็นอ่าวใหญ่ที่สุดบนเกาะ นอกจากนี้รอบๆ อ่าวสลักเพชรยังมีที่พักลักษณะแบบโฮมสเตย์ ของชุมชนสลักเพชรกระจายตัวอยู่หลายแห่ง ไว้บริการนักท่องเที่ยวแบบเรียบง่ายตามแบบของชุมชนในราคาที่แตกต่างกันออกไป และร้านอาหารทะเลไว้บริการ

บ้านโรงถ่าน

เป็นชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่บริเวณอ่าวสลักเพชร อยู่ทางตอนใต้ของเกาะ นักท่องเที่ยวนิยมไปชมทิวทัศน์กันที่นี่ เมื่อมองไปทางหรือจะเห็นยอดเขาสลักเพชรมีเมฆหมอกปกคลุม ทางตะวันออกจะเห็นเกาะมะพร้าวในและทิวเขาบริเวณแหลมใหญ่ หากเดินขึ้นเนินเขาไปสำนักสงฆ์อตุลาภรณ์บรรพตจะมองเห็นทิวทัศน์ของอ่าวสลักเพชรทั้งหมด

น้ำตกคีรีเพชร

น้ำตกคีรีเพชร ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง เป็นน้ำตกชั้นเดียว อยู่ลึกเข้าไปจากชุมชนบ้านสลักเพชร ก่อนถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กช.3 (สลักเพชร) ประมาณ 4 กิโลเมตรจะมีป้ายบอกทางไปน้ำตกคีรีเพชรทางขวามือ ผ่านสวนยางพาราเป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งน้ำตกมีความสูงมาก สามารถมองเห็นได้จากบางจุดของหมู่บ้านสลักเพชร ประชาชนในหมู่บ้านใช้น้ำจากน้ำตกนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค

บริเวณยุทธนาวีเกาะช้าง

บริเวณยุทธนาวีเกาะช้าง อยู่ทางตอนใต้ของเกาะช้าง น่านน้ำทะเลตราดบริเวณอ่าวสลักเพชร อ่าวสลักคอก ยังเป็นอีกหน้าหนึ่งของบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อปกป้องอธิปไตยของไทย เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 กองทัพเรือไทยสามารถขับไล่ผู้รุกรานให้ล่าถอยไปได้ หากไทยต้องสูญเสียกองเรือ และทหารกล้าไปจำนวนหนึ่ง วีรกรรมทหารเรือไทยได้รับการจดจารึก และรำลึกถึงวันที่ 17 มกราคมของทุกปี ณ อนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้าง อำเภอแหลมงอบ




สำหรับเรื่องที่พักบน "เกาะช้าง" นั้น ก็มีให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม รีสอร์ท บังกะโล หรือจะเป็นบ้านพักแบบธรรมดาๆ ราคาประหยัด พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานบริการบ้านพัก

ส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ 0-2561-2919-21 หรือติดต่อที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง บ้านหินตาบ๋อย ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด 23120 โทรศัพท์ 0-3953-8100

ค่าธรรมเนียมสำหรับบุคคลผ่านเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง คือ คนไทย ผู้ใหญ่ คนละ 40 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ คนละ 200 บาท เด็ก 100 บาท สถานที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก อุทยานมีบริการบ้านพักรายละเอียดติดต่อ โทร. 0 2562 0760 หรือสำรองที่พักด้วยตนเองที่

การเดินทาง

การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง สามารถเดินทางได้ ดังนี้ ...

1. ทางรถโดยสารประจำทาง

จังหวัดตราด - ที่ทำการอุทยานฯ (แหลมงอบ) เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที แล้วเดินทางต่อโดยเรือโดยสารจากท่าเรือแหลมงอบ

2. เรือโดยสารจากท่าเรือแหลมงอบ

ที่อำเภอแหลมงอบ มีท่าเรือที่สามารถโดยสารไปยังเกาะช้าง ทั้งหมด 3 ท่า ได้แก่ …

++ ท่าเทียบเรือแหลมงอบ - เกาะช้าง (บ้านธารมะยม)

สามารถเดินทางโดยเรือโดยสารประจำทาง หรือเรือยนต์จ้างเหมา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที

++ ท่าเทียบเรือแหลมงอบ - เกาะช้าง (บ้านอ่าวสับปะรด)

สามารถเดินทางโดยเรือโดยสารประจำทาง หรือเรือยนต์จ้างเหมา ค่าบริการสำหรับรถยนต์ 4 ล้อ พร้อมคนขับข้ามแบบไปเกาะช้างต้องเสียค่าใช้จ่ายคันละ 150 บาท และสำหรับนักท่องเที่ยวราคาคนละ 60 บาท ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 45 นาที มีเรือออกทุกๆ 30 นาที เที่ยวไปตั้งแต่เวลา 07.00 - 19.00 น. เที่ยวกลับเวลา 07.00 - 18.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0 3959 7143, 0 3959 7434, 0 3952 1661

++ ท่าเทียบเรือแหลมงอบ - เกาะช้าง (บริเวณบ้านด่านเก่า)

สามารถเดินทางโดยเรือโดยสารประจำทาง หรือเรือยนต์จ้างเหมา จากท่าเรือแหลมงอบอยู่ห่างลงมาทางใต้ประมาณ 500 เมตร อัตราค่าโดยสารไปกลับราคาคนละ 120 บาท รถยนต์ 4 ล้อ ไปกลับฟรี ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 45 นาที มีเรือออกเที่ยวไปตั้งแต่เวลา 06.00 - 19.00 น. เที่ยวกลับเวลา 06.00 - 19.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 3953 8196

หรือจะเดินทางโดยเรือประมงดัดแปลง ค่าเรือโดยสาร 50 บาท ใช้เวลาประมาณ 45 นาที มีเรือออกทุกชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. เรือกลับจากเกาะช้างมีหลายเที่ยว ตั้งแต่เวลา 07.00 - 16.00 น.

3. บนเกาะช้าง

สามารถนั่งรถสองแถวต่อไปยังที่ที่ต้องการได้ การเดินทางบนเกาะจากท่าเรือมีรถสองแถวไปยังหาดทรายขาว คลองพร้าว ไก่แบ้ อัตราค่ารถ 30 บาท ส่วนหาดอื่นๆ ต้องเหมา และตกลงราคาก่อนเดินทาง

ภูเก็ตแฟนตาซี

ที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดภูเก็ต ตั้งอยู่ทางฝั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้ ที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 7˚45' ถึง 8˚15' เหนือ และเส้นแวงที่ 98˚15' ถึง 98˚40' ตะวันออกห่างจากกรุงเทพฯ 862 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 สายเพชรเกษม และทางหลวงหมายเลข 402 สายโคกลอย – ภูเก็ต (ในเขตภูเก็ต คือ ถนนเทพกระษัตรี) พื้นที่ทั้งหมดประกอบด้วยเกาะใหญ่ และเกาะบริวารอีก 32 เกาะ มีพื้นที่รวมกันทั้งหมดประมาณ 543 ตารางกิโลเมตร โดยตัวเกาะใหญ่มีความยาวจากเหนือจดใต้ประมาณ 48.7 กิโลเมตร มีความกว้างจากตะวันออกไปตะวันตกประมาณ 21.3 กิโลเมตร

จังหวัดภูเก็ตอยู่ในกลุ่ม 6 จังหวัดฝั่งทะเลตะวันตกหรือทะเลอันดามัน คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ด้านการปกครอง
จังหวัดภูเก็ต ได้จัดแบ่งเขตการปกครองออกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านดังนี้
อำเภอเมืองภูเก็ต : มี 8 ตำบล 42หมู่บ้าน
อำเภอกะทู้ : มี 3 ตำบล 18หมู่บ้าน
อำเภอถลาง : มี 6 ตำบล 42หมุ่บ้าน
มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดอื่น ดังนี้
ทิศเหนือ เขตอำเภอถลาง ติดต่อกับจังหวัดพังงา เขตอำเภอตะกั่วทุ่ง มีช่อง แคบปากพระเชื่อมต่อแผ่นดินใหญ่ด้วยสะพานสารสิน และสะพานท้าวเทพกระษัตรี
ทิศใต้ เขตอำเภอเมืองภูเก็ต จดกับทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย
ทิศตะวันออก เขตอำเภอเมืองภูเก็ต และอำเภอถลางจดอ่าวพังงา ทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย
ทิศตะวันตก เขตอำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอถลางและอำเภอกะทู้ จดทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย
ลักษณะภูมิประเทศ
ภูเก็ต มีรูปร่างเป็นเกาะเรียวยาวจากเหนือไปใต้ มีเกาะบริวารน้อยใหญ่ล้อมรอบพื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณ ร้อยละ 70 เป็นที่ราบสูงหรือภูเขา มีเทือกเขาทอดยาวในแนวเหนือใต้ ยอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาไม้เท้าสิบสอง สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 529 เมตร เป็นแนวกำบังลมและฝน ทำให้ภูเก็ตปลอดภัยจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และพื้นที่ประมาณร้อยละ 30 เป็นที่ราบแถบเชิงเขาและชายฝั่งทะเลอยู่บริเวณตอนกลางและตะวันออกของเกาะ โดยพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกมีสภาพเป็นหาดโคลนและป่าชายเลน ส่วนชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกเป็นภูเขาและหาดทรายที่สวยงาม และบริเวณที่เป็นที่ราบตัดจากภูเขาลงมามีสภาพพื้นที่เป็นที่ดอนลักษณะลูกคลื่นลอนลาด และต่อจากบริเวณนี้จะเป็นพื้นที่ที่มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนที่สำคัญ คือ เทศบาลนครภูเก็ต ชุมชนฉลอง ชุมชนราไวย์ และชุมชนเกาะแก้วเป็นต้น
ลักษณะประชากร
จังหวัดภูเก็ต ในอดีตเจ้าถิ่นเดิม ได้แก่ เงาะซาไก และชาวน้ำ ชาวเล หรือ ชาวไทยใหม่ ต่อมาได้มีชาวอินเดีย ชาวไทย และชาวจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพเข้ามา สำหรับชาวไทยได้มีการอพยพเข้ามาอาศัยมากขึ้นทำให้สามารถยึดครองภูเก็ตได้มากกว่าชาติอื่น กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆที่เข้ามาสู่พื้นที่ภูเก็ตและมีส่วนสำคัญต่อการผสมผสานและสืบต่อวัฒนธรรมของชาวภูเก็ตจนมาถึงปัจจุบัน
จำนวนประชากร
จังหวัดภูเก็ต ประชากรจังหวัดภูเก็ตตามสถิติข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ณ 31 ธันวาคม 2546 มีทั้งสิ้น 278,480 คน แต่จากการสำรวจ สัมภาษณ์บุคคลและหน่วยงานราชการต่างๆ พบว่า มีประชากรแฝงจากพื้นที่อื่นๆทั้งจากจังหวัดใกล้เคียงในภาคใต้ กรุงเทพมหานคร รวมทั้งจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้ามาในลักษณะของการลงทุนประกอบการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีทั้งแรงงานที่ผิดกฎหมายและถูกกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ได้แจ้งชื่อย้ายเข้ามาจำนวนมาก เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ มีธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆที่ต่อเนื่อง สถิติข้อมูลที่จะอ้างอิงได้ชัดเจนในที่นี้จึงเป็นประชากรที่ตามสถิติข้อมูลทะเบียนราษฎร์เท่านั้น
เขตเทศบาลนครภูเก็ตประชากรในเขตผังเมืองรวมเมืองภูเก็ตเดิม ซึ่งรวมทั้งประชากรในเขตเทศบาลนครและประชากรบางส่วนในตำบลรัษฎาและวิชิตได้เพิ่มขึ้นจาก 66,571 คน ในปี 2537 เป็น 88,210 คน ในปี 2546 คิดเป็นอัตราการเพิ่มประมาณ 0.03176 ต่อคนต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 3.18 ส่วนประชากรในเขตเทศบาลนครภูเก็ต ได้เพิ่มขึ้นจาก 59,155 คน ในปี 2537 เป็น 75,249 คน ในปี 2546 คิดเป็นอัตราการเพิ่มประมาณ 0.02709 ต่อคนต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 2.7 แสดงให้เห็นว่าอัตราการเพิ่มประชากรในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ตน้อยกว่าอัตราการเพิ่มประชากรทั้งเขตผังเมืองรวม แสดงว่าประชากรได้มีอัตราเพิ่มมากขึ้นนอกเขตเทศบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตตำบลวิชิตที่ติดกับเขตเทศบาล

ชาวเล เป็นชาวกลุ่มแรกๆที่มาอาศัยอยู่บนเกาะภูเก็ต จากนั้นมาจึงกลุ่มชนอื่นๆ อพยพตามมาอีกจำนวนมาก ทั้งชาวจีน ชาวไทย ชาวมาเลย์ ฯลฯ จนมีวัฒนธรรมเฉพาะเป็นของตนเอง สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นสีสันอย่างหนึ่งของภูเก็ต

ตามบันทึกของ ฟรานซิส ไลท์ กล่าวถึงลักษณะของชาวภูเก็ตว่าเป็นพวกผสมผสานกันทางด้านเชื้อชาติ และวัฒนธรรมกับชาวมลายู โดยเฉพาะคนไทยจำนวนมากในสมัยนั้นทำตัวเป็นทั้งมุสลิม และพุทธศาสนิกชน คือ ไม่รับประทานหมู แต่สักการะพระพุทธรูป

ขณะที่กัปตันโธมัส ฟอร์เรสต์ ชาวอังกฤษที่เดินเรือมายังภูเก็ต ใน พ.ศ. 2327 ได้รายงานว่า "ชาวเกาะแจนซีลอนพูดภาษาไทย ถึงแม้ว่าเขาจะเข้าใจภาษามลายู พวกเขามีลักษณะหน้าตาคล้ายกับชาวมลายู ท่าทางคล้ายชาวจีนมาก"

ปัจจุบันชาวภูเก็ต ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวจีนช่องแคบ ชาวจีนกวางตุ้ง ฯลฯ รวมไปถึงชาวไทยพุทธ และชาวไทยมุสลิม แถบอำเภอถลาง โดยเฉพาะชาวไทยมุสลิม มีจำนวนถึง ร้อยละ 20-36 ของประชากรในภูเก็ต มีมัสยิดแถบอำเภอถลาง ราว 30 แห่ง จาก 42 แห่งทั่วจังหวัด ที่ขาดไม่ได้สำหรับภูเก็ตคือชาวเล มีพวกอูรักลาโว้ย และพวกมอเกน ซึ่งมอเกนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ มอเกนปูเลา (Moken Pulau) และ มอเกน ตาหมับ (Moken Tamub) แลยังมีชนกลุ่มต่างชาติอย่างชาวยุโรปที่เข้าลงทุนในภูเก็ต รวมไปถึงชาวอินเดีย มีชาวคริสต์ในภูเก็ต ราว 300 คน ชาวสิกข์ที่มีอยู่ราว 200 คน และชาวฮินดูราว 100 คน และแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ลาว และเขมร ราวหมื่นคน
การกระจายตัวและความหนาแน่นประชากร
จากการพิจารณาจำนวนประชากร การกระจายตัวและความหนาแน่นของประชากรจะเห็นได้ว่า เมืองมีความหนาแน่นประชากรต่อการใช้พื้นที่สูง และมีแนวโน้มขยายตัวของประชากรออกไปในพื้นที่เชื่อมต่อที่อยู่นอกเขตเทศบาลนครภูเก็ตมากขึ้น

สภาพเศรษฐกิจและการจ้างงาน
จำแนกตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ต พบว่า ประชากรส่วนใหญ่ของภูเก็ตประมาณร้อยละ 24 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดทำงานในภาคธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร รองลงมาร้อยละ 19 ทำงานเกี่ยวกับการขายปลีก และประมาณร้อยละ 5 – 10 เท่านั้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งแตกต่างจากโครงสร้างการจ้างงานของประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

ประวัติ ภูเก็ตภูเก็ต หรือที่เคยรู้จักแต่โบราณในนาม เมืองถลาง เป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทย ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างจากจังหวัดอื่นโดยสิ้นเชิง คือ เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ชื่อ ภูเก็ต เป็นคำที่เขียนสะกดผิดพลาดมาจากคำว่า ภูเก็จ ซึ่งแปลว่าภูเขาแก้ว ส่วนคำว่า ถลาง มาจากคำ Junk Ceylon, Silan, สลาง และฉลาง ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต

เดิม คำว่า ภูเก็ต นั้นใช้คำว่า ภูเก็จ อันแปลว่าเมืองแก้ว ตรงกับความหมายเดิมซึ่งชาวทมิฬเรียก มณีคราม ตามหลักฐาน พ.ศ. 1568 ภูเก็ตเป็นที่รู้จักของนักเดินเรือที่ใช้เส้นทางระหว่างจีนกับอินเดีย โดยผ่านแหลมมลายู หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดก็คือ หนังสือภูมิศาสตร์และแผนที่เดินเรือของปโตเลมี เมื่อประมาณ พ.ศ. 700 กล่าวถึงการเดินทางจากแหลมสวรรณภูมิลงมาจนถึงแหลมมลายู ซึ่งต้องผ่านแหลม จังซีลอน หรือเกาะภูเก็ตนั่นเอง
จากประวัติศาสตร์ไทย ภูเก็ตเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตามพรลิงค์ ต่อมาจนถึงสมัยอาณาจักรศิริธรรมนคร เรียกเกาะภูเก็ตว่า เมืองตะกั่วถลาง เป็นเมืองที่ 11 ใน 12 เมืองนักษัตร โดยใช้ตราเป็นรูปสุนัข จนถึงสมัยสุโขทัย เมืองถลางไปขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า ในสมัยอยุธยา ชาวฮอลันดามาสร้างสถานที่เก็บสินค้าเพื่อรับซื้อแร่ดีบุกจากเมืองภูเก็ต
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น กษัตริย์พม่าได้ยกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ต่างๆ จนมาถึงเมืองถลาง ขณะนั้นเจ้าเมืองถลางถึงแก่อนิจกรรม ท่านผู้หญิงจัน ภริยา และคุณมุก น้องสาว จึงรวบรวมกำลังต่อสู้กับพม่าจนชนะ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2328 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านผู้หญิงจันเป็น ท้าวเทพกระษัตรี และคุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร
ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รวบรวมหัวเมืองชายทะเลตะวันตกตั้งเป็น มณฑลภูเก็ต และเมื่อปี พ.ศ. 2476 ได้ยกเลิก ระบอบมณฑลเทศาภิบาล เปลี่ยนมาเป็น จังหวัดภูเก็ต จนถึงปัจจุบัน
อาหารอร่อย ภูเก็ต

เกาะหมาก

ไกลจากชายฝั่งที่ท่าเรือแหลมงอบออกไปยังท้องทะเลสีคราม 35 กิโลเมตร มีเกาะๆ หนึ่ง ที่เป็นเจ้าของหาดทรายสวยหลายหาด ร่มรื่นไปด้วยทิวมะพร้าว แม้จะเป็นเกาะไม่ใหญ่เท่าเกาะช้าง แต่ความสวยงามไม่น้อยหน้ากันเลย ที่สำคัญสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะมีอาณาจักรส่วนตัว เกาะหมาก คือความฝันที่เป็นจริง

เกาะหมาก เป็นเกาะที่อยู่ในกิ่งอำเภอเกาะกูด มีถนนรอบเกาะ 27 กิโลเมตร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นราบ มีหาดทรายสวยๆ หลายหาด ยังมีเกาะบริวารรายล้อม เกาะหมาก อีกหลายเกาะ เช่น เกาะขาม เกาะระยั้งนอก เกาะระยั้งใน

ท่าเรืออ่าวนิด : อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะ เป็นท่าเรือประจำ เกาะหมาก มีร้านขายของชำ ถือเป็นศูนย์กลางของเกาะก็ว่าได้

อ่าวสวนใหญ่ : มีชายหาดที่สวยและทอดยาวที่สุดของ เกาะหมาก เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามร่มรื่นด้วยป่าสน และต้นมะพร้าว เล่นน้ำได้ เป็นที่ตั้งของ เกาะหมาก รีสอร์ต อยู่ใกล้กับ เกาะขาม ข้ามเรือไปเที่ยวได้

อ่าวขาว : ชายหาดขาวสะอาดสดชื่น สงบเงียบ เล่นน้ำได้ เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามแห่งหนึ่ง

อ่าวฮอลิเดย์ บีช : ตลอดแนวหาดร่มรื่นด้วยสวนมะพร้าว สงบเงียบ เล่นน้ำได้ เป็นที่ตั้งฮอลิเดย์ บีบ รีสอร์ต

อ่าวเลซี่เดย์ บีช : ชายหาดสวย เล่นน้ำได้ ร่มรื่นด้วยสวนมะพร้าว วิวสวย

จุดชมวิวเขาแผนที่ : เป็นบริเวณที่สูงสุดของ เกาะหมาก จึงเห็นวิวทั้งที่ราบเบื้องล่างของ เกาะหมาก และเกาะข้างเคียง


ภาพโดย : www.tripsthailand.com

" เกาะหมาก " มีพื้นที่ 13 ตารางกิโลเมตร (8,125 ไร่) ตั้งอยู่ระหว่างเกาะช้าง เกาะกูด ในท้องทะเลอ่าวไทย จังหวัดตราด อยู่ห่างจากเกาะช้าง 30 กิโลเมตร ห่างจากเกาะกูด 22 กิโลเมตร เกาะหมาก เป็น 1 ใน 9 เกาะ ของหมู่ เกาะหมาก ประกอบด้วย เกาะหมาก เกาะกระดาด เกาะระยั้งใน เกาะระยั้งนอก เกาะผี เกาะขาม เกาะนก เกาะนอก เกาะใน หมู่ เกาะหมากปัจจุบันขึ้นอยู่กับตำบล เกาะหมาก กิ่งอำเภอเกาะกูด มีอยู่เพียง 2 หมู่บ้าน คือหมู่ 1 บ้านอ่าวนิด หมู่ 2 บ้านแหลมสน ประชากรประมาณ 350 คน

สภาพพื้นที่ เกาะหมาก เป็นที่ราบชายฝั่งและภูเขาสูงบางส่วน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนมะพร้าว สวนยางพารา และระยะหลัง 3-4 ปี ที่ผ่านมามีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยรอบ เกาะหมากจะมีหาดทรายขาวสะอาด โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นอ่าว 3-4 อ่าว คือ อ่าวสวนใหญ่ อ่าวพระ อ่าวขาว อ่าวนิด และที่หมู่เกาะใกล้ ๆ มีแหล่งปะการังที่สมบูรณ์ ดังนั้น เกาะหมาก จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของหมู่เกาะใน จังหวัดตราด ซึ่งในปัจจุบัน 2-3 ปีที่ผ่านมา " เกาะหมาก " ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวและพักผ่อนเป็นจำนวนมาก รองจากเกาะช้าง เกาะกูด คาดว่าในอนาคต เกาะหมาก จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดตราด ที่ใครต่อใครต้องการมาสัมผัสกับบรรยากาศที่เงียบสงบ ท่ามกลางธรรมชาติที่บริสุทธิ์และสวยงามที่นับวันจะหายากลงไปทุกที


ภาพโดย : www.tripsthailand.com

หลวงพรหมภักดี ต้นตระกูล "ตะเวทีกุล"...ผู้ตั้งรกรากบน เกาะหมาก เป็นคนแรก

" เกาะหมาก " เป็นเกาะหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมา หรืออดีตที่เป็นประวัติศาสตร์ของเกาะที่น่าสนใจ

เนื่องจากเป็นเกาะเดียวที่พื้นที่เกาะทั้งหมดเกือบ 9,000 ไร่ มีเจ้าของเป็นทายาทของ "ตระกูลตะเวทีกุล" เพียงตระกูลเดียวจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 100 ปีเศษ ทั้งนี้ นายจักรพรรดิ์ ตะเวทีกุล วัย 54 ปี กำนันตำบล เกาะหมาก ในปัจจุบัน และเจ้าของผู้จัดการ เกาะหมาก รีสอร์ตและ เกาะหมาก แฟนตาเซีย ผู้เป็นทายาท รุ่นที่ 4 เล่าว่า หลวงพรหมภักดี (นายเปลี่ยน ตะเวทีกุล) ผู้มีศักดิ์เป็นคุณชวด เป็นผู้เข้ามาครอบครอง เกาะหมาก เป็นคนแรก เมื่อปี พ.ศ.2447 โดยซื้อจากเจ้าของเดิมชื่อ เจ้าสัวเส็ง ปลัดจีนในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเข้ามาจับจองทำสวนมะพร้าวไว้ในราคา 300 ชั่ง (ชั่งละ 80 บาท ) หลวงพรหมภักดีขณะนั้นเป็นปลัดจีนอยู่ที่ จังหวัดประจันตคีรีเขตร์ (เกาะกง ของกัมพูชาในปัจจุบัน) ขณะนั้นเป็นของไทยอยู่ แรกทีเดียวได้ส่งบุตรชาย 3 คน มาทำสวนมะพร้าวอยู่ก่อน คือ นายอู๋ นายเอิบ นายอาบ ตะเวทีกุล ต่อมาเมื่อไทยเสียเมืองตราด หมู่เกาะต่างๆ รวมทั้งเมืองประจันตคีรีเขตร์ให้กับฝรั่งเศสเพื่อแลกกับการที่ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรี หลวงพรหมภักดียังคงทำมาค้าขายอยู่ที่เกาะปอ เมืองประจันตคีรีเขตร์ จนกระทั่งอีก 6 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2453 จึงได้อพยพครอบครัวมาตั้งรกรากที่ เกาะหมาก ทำสวนมะพร้าวขนาด 3,000-4,000 ไร่ และสร้างบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณอ่าวสวนใหญ่ซึ่งมีหาดทรายอันสวยงาม มองเห็นเกาะข้างเคียงได้ชัดเจน เรียกกันว่า บ้านสวนใหญ่

หลวงพรหมภักดี ได้แต่งงานกับนางมู่ลี่ มีบุตร 7 คน ธิดา 4 คน รวม 11 คน และต่อมาแต่งงานกับนางทิม มีบุตรชายอีก 1 คน เมื่อบุตรสาวโตขึ้นแต่งงานไปใช้นามสกุลของฝ่ายชาย ฝ่ายชายสืบตระกูลตะเวทีกุลมาถึงปัจจุบัน 5-6 ช่วงอายุคนแล้ว สำหรับนายจักรพรรดิ์ ตะเวทีกุล ซึ่งปัจจุบันเป็นกำนันตำบล เกาะหมาก เป็นรุ่นที่ 4 บิดาชื่อ นายสันต์ ตะเวทีกุล มารดา คือ นางเฉลิม ศรีอรุณ ปู่
เมื่อสิ้นหลวงพรหมภักดี ปี พ.ศ. 2458 สวนมะพร้าวและที่ดินทั้งหมดบนเกาะถูกแบ่งเป็นมรดกให้ลูกๆ หลานๆ ทายาทของหลวงพรหมภักดี ซึ่งในยุครุ่นลูกนี้เองได้มีการนำยางพาราเข้ามาปลูกเป็นจำนวนนับ 1,000 ไร่ และมีการสร้างโรงบ่มยางขึ้นภายในบริเวณบ้านสวนใหญ่ ดังนั้น ในปัจจุบันจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าพื้นที่ เกาะหมาก ทั้งหมด 9,500 ไร่ เป็นที่สาธารณประโยชน์ 500 ไร่ ที่เหลือ 9,000 ไร่ ล้วนแต่เป็นของพี่ๆ น้องๆ ในสายตระกูลตะเวทีกุลเพียงตระกูลเดียวเท่านั้น มีบ้างเล็กน้อยที่ขายให้กับคนต่างถิ่นที่มาลงทุนสร้างรีสอร์ทแต่เป็นส่วนน้อยนิด

นับจากปี พ.ศ 2447 ที่หลวงพรหมภักดีได้เป็นเจ้าของ เกาะหมาก มาถึงทายาทในปัจจุบันปี พ.ศ. 2547 รวมระยะเวลา 100 ปี เมื่อวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2547 ที่ผ่านมานี้ กำนันจักรพรรดิ์ ตะเวทีกุล ร่วมกับญาติๆ ทั้งหมดได้ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองรำลึกถึงหลวงพรหมภักดี และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวบน เกาะหมาก โดยจะถือเอางานเฉลิมฉลองนี้เป็นเอกลักษณ์ของชาว เกาะหมาก จัดงานเป็นประจำทุกปี เพราะนับวันการท่องเที่ยวจะเติบโตเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญบนเกาะหมาก อาจจะทำรายได้ให้ชาวบ้านบน เกาะหมาก มากกว่าการทำอาชีพเกษตรกรรม สวนมะพร้าว สวนยางพารา

วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พายุไต้ฝุ่นมรกตที่ไต้หวัน

ทางการไต้หวันแจ้งว่า อิทธิพลของไต้ฝุ่นมรกตทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 38 คน สูญหายอีก 62 คน คาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอีกเพราะเกิดดินถล่มกลบหมู่บ้านห่างไกลแถบเทือกเขา และคาดว่ามีผู้เคราะห์ร้ายไม่ต่ำกว่า 400 คน ซึ่งเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยไม่สามารถลงจอดได้เพราะพื้นลื่นมาก จึงทำได้เพียงหย่อนอาหารให้แก่ผู้รอดชีวิต โดยรัฐบาลไต้หวันได้ตั้งงบฉุกเฉิน 20,000 ล้านดอลลาร์ไต้หัน (ราว 20,400 ล้านบาท) บรรเทาทุกข์จากน้ำท่วมครั้งร้ายแรงที่สุด ในรอบ 50 ปี
อพาร์ตเมนต์ 6 หลังถล่มทางตะวันออกของจีน
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า วันนี้ (11 ส.ค.) เกิดเหตุอพาร์ตเมนต์ขนาด 4 ชั้น 6 หลังพังถล่ม ทางภาคตะวันออกของประเทศจีน จากผลพวงของพายุไต้ฝุ่นมรกต ฝังประชาชนไม่ทราบจำนวนอยู่ใต้ซากปรักหักพัง โดยสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานในวันนี้ว่า อาคารอพาร์ตเมนต์ดังกล่าวอยู่ใกล้ตีนเขา ในเมืองเหวินโจว มณฑลเจ้อเจียง โดยเหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 22.30 น. เมื่อคืนที่ผ่านมาตามเวลาในท้องถิ่น หรือตรงกับเวลา 21.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย และมีประชาชนติดอยุ่ใต้ซากอพาร์ตเมนต์ทั้ง 6 หลังดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ล่าสุดหน่วยกู้ภัยท้องถิ่นกำลังเร่งระดมความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ.

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ถวายฎีกา


แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง เข้ายื่นถวายฎีกาแล้ว ระบุ มีเสียงฟ้าเป็นพยาน

(17ส.ค.) เวลา 13.00 น. นายวีระ มุสิกะพงศ์ ตัวแทนกลุ่มคนเสื้อแดงอ่าน คำถวายฎีกา ต่อหน้านายอินจันทร์ บุราพันธ์ พร้อมมอบใบฎีกาให้เรียบร้อยแล้ว จากนั้น กลุ่มพระสงฆ์ 5 รูป ได้ยื่นถวายใบฎีกานำโดยพระมหาโชว์ ทัศนีโย ได้ยื่นต่อ และพระสงฆ์ ได้นำสวดมนต์ สร้างความดีใจให้กลุ่มเสื้อแดงที่มายืนรอเต็มถนนหน้าพระลาน

ผู้สื่อข่าวรายงาน บริเวณได้มีเสียงฟ้าร้องเป็นระยะๆ ทำให้ชาวเสื้อแดงพูดคุยว่าการยื่นฎีกาครั้งนี้มีฟ้าเป็นพยาน

ก่อนหน้านั้นเวลา 12.00 น. กลุ่มเสื้อแดงเคลื่อน ขบวนจากท้องสนามหลวงไปยังพระบรมมหาราชวัง โดยริ้วขบวนนำโดยนักเรียนนักศึกษา ถือพาน พุ่มเงินพุ่มทองและพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้น เป็นตัวแทนของกลุ่มเสื้อแดง 10 คน ที่ได้รับมอบให้เป็นผู้ยื่นถวายฎีกา ตามด้วยขบวนธงชาติ 75 ผืน,พระสงฆ์ 1,000 รูป ปิดท้ายขบวนด้วยใบฎีกาห่อผ้าแดง กล่องละ 1 หมื่นรายชื่อโดยใช้ประชาชน 2 คน หามรายชื่อ 2 คน ต่อ 1 กล่องจำนวนมาก

โดย หัวขบวนได้ออกจากท้องสนามหลวง เพื่อเคลื่อนไปตามถนน ผ่านโรงแรมรัตนโกสินทร์ ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ้อมไปพระบรมมหาราชวัง ขณะที่ประชาชนบางส่วนที่ไม่ได้ร่วมขบวนไปยังปักหลักชุมนุอยู่ที่ท้องสนาม หลวง โดยตะโกนให้กำลังใจผู้ที่อยู่ในขบวนอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของการ์ดเสื้อแดงอย่างหนาแน่น

ต่อมาเวลา 12.25 น. ขบวนฎีกากลุ่มเสื้อแดงได้ เคลื่อนมาถึงด้านประตูวิเศษไชยศรี พระบรมมหาราชวัง พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบ.ก.น.1 ทำหน้าที่รับชอบควบคุมสถานการณ์อยู่บริเวณดังกล่าว พร้อมกับมีแผงเหล็กมากั้น

ทั้งนี้พล.ต.ต.วิชัย ได้ขอร้องกลุ่มเสื้อแดงไม่ให้ข้ามถนนหน้าพระลานเพื่อมายังฝั่งพระบรมมหาราชวัง เพื่อขอเปิดถนนดังกล่าว ใช้เป็นเส้นทางสัญจรปกติ ซึ่งกลุ่มเสื้อแดงปฏิบัติ ตามแต่โดยดี โดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ ได้ขึ้นรถตำรวจพร้อมกล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงให้มวลชน ทราบว่า เมื่อถึงเวลาที่ตัวแทนยื่นใบถวายฎีกาขอให้มวลชนอย่าเดินตามไป ให้สงบนิ่งอยู่กับที่

วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ไข้หวัดใหญ่2009

อาการไข้หวัด 2009 ในคนนั้นมีอาการคล้ายกันกับอาการของคนที่เป็นหวัดปกติ และมีอาการต่อไปนี้คือ มีไข้ ท้องเสีย เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศรีษะ หนาว และ ไม่มีเรี่ยวแรง อ่อนล้า ร่วมด้วย ในบางคนมีอาการท้องเสียร่วมกับอาเจียน และในอดีตมีรายงานว่าผู้ป่วยหลายคนมีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นปอดบวม และ ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด เช่นเดียวกันกับหวัด ที่ไข้หวัด 2009อาจจะแย่ลงจนต้องมีสภาพการเรื้อรัง

ผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัด 2009 ควรได้รับการพิจารณาถึงศักยภาพในการติดเชื้อ ไข้หวัด 2009 ระยะเวลาความยาวนานของการฟักเชื้อจนมีอาการ และความเป็นไปได้ของอาการป่วยที่ยาวนานถึง 7 วัน เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กอาจได้รับเชื้อเป็นเวลานาน

สัญญานเตือนภัย ไข้หวัด 2009 ที่จะบ่งบอกถึงการต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนที่ต้องสังเกตมีดังนี้ ในเด็ก หากเด็กมีอาการหายใจเร็ว หรือหายใจลำบาก ผิวหนังเป็นจ้ำสีน้ำเงิน ดื่มน้ำน้อยไม่เพียงพอ ปลุกไม่ตื่น หรือไม่มีอาการตอบสนอง มีอาการงอแงไม่ยอมให้อุ้ม มีไข้เฉียบพลัน หรือมีอาหารหวัด ไออย่างรุนแรง หากมีอาการเหล่านี้ไม่ควรนิ่งนอนใจ ต้องรีบเข้ารับการรักษาทันที ในผู้ใหญ่ สัญญานเตือนภัยที่จะต้องรีบรักษาเช่นกันคือ อาการหายใจลำบาก หรือหายใจถี่ เจ็บ แน่นหน้าอกหรือช่องท้อง วิงเวียน หน้ามืด และอาเจียนอย่างรุนแรง หรืออาเจียนเป็นเลือด หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบรักษาอย่างเร่งด่วน

โอกาสในการรับเชื้อ ไข้หวัด 2009

การกระจายและการติดเชื้อของเชื้อไข้หวัด 2009มี 2 ทาง คือ ทางแรก เกิดจาการสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ หรือการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อไข้หวัด 2009ทางที่สอง การเกิดจากสัมผัสระหว่างคนกับคนที่ติดเชื้อ การกระจายและติดเชื้อระหว่างคนสู่คนนั้นได้มีการมีบันทึกไว้ และ ถูกคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูที่มีไข้หวัดระบาด (Seasonal flu) สาเหตุให้ที่จะทำให้เชื้อแพร่กระจายจากคนสู่คนถือการไอ หรือจาม ของผู้ติดเชื้อ

ไข้หวัด 2009 จะรักษาอย่างไร?

ยา ที่จะใช้รักษาอาการไข้หวัด 2009นั้น CDC แนะนำให้ใช้ตัวยา oseltamivir หรือ zanamivir (ทางที่ดีอย่าซื้อกินเอง ควรไปพบแพทย์ค่ะ...ผู้เขียน) สำหรับการบำบัดรักษา การป้องกันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสนี้ ยาต้านไวรัส (Antivirus drug) ตามคำสั่งยาของแพทย์ไม่ว่าจะเป็นยาเม็ด ยาน้ำ หรือ ยาชนิดสูดดม ที่มีฤทธิ์ต้านหวัดช่วยได้โดยการป้องกันการเจริญและพิ่มจำนวนในร่างกาย (ยังคงมีไวสหลงเหลือในร่างกาย) ถ้าหากมีอาการป่วย ยาต้านไวรัสเหล่านี้สามารถทำให้อาการป่วยลดลงและสามารถทำให้รู้สึกดีขึ้น เร็วขึ้น และอาจใช้ป้องกันอาการหวัดที่รุนแรงได้ สำหรับการรักษานั้นยาต้านไวรัสทำงานได้ดีที่สุดถ้าใช้ตั้งแต่เริ่มมีอาการ ป่วย โดยเฉพาะในช่วงประมาณ 2 วันแรกที่มีอาการเหมือนเชื้อหวัด..ไม่มีวัคซีนในการรักษา อย่างไรก็ตามหากการกระทำใดๆในชีวิตประจำวันที่ผู้คนสามารถใช้ช่วยป้องกันการ แพร่กระจายของเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจได้ก็ สามารถนำมาใช้ป้องกันเชื้อไข้หวัด 2009 นี้ได้



ข้อแนะนำตามขั้นตอนพึงปฏิบัติเป็นประจำทุกวันเพื่อปกป้องไข้หวัด 2009 และสุขภาพของตัวคุณเอง ดังต่อไปนี้

1. ใช้กระดาษทิชชูปิดจมูกและปากของคุณเมื่อไอ หรือจาม และทิ้งกระดาษทิชชูที่ใช้แล้วลงในถังขยะที่มีฝาปิดหลังการใช้ทันที

2. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือล้างด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ (เช่นเจลล้างมือ) บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังการไอ หรือ จาม

3. พยายามหลีกเลี่ยงการพบปะ และสัมผัสกับผู้ป่วย ถ้าหากป่วยเป็นหวัดควรหยุดพักอยู่บ้าน เพื่อจำกัดการพบปะผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูก หรือ ปาก เพราะเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายทางอวัยวะเหล่านี้ได้

ประชาชน ยังไม่จำเป็นต้องเป็นกังวลกับการจัดเตรียมและรับประทานเนื้อหมู เชื้อไวรัสไข้หวัด 2009 นี้ไม่สามารถแพร่กระจายได้ทางอาหาร อนึ่งการรับประทานเนื้อหมูที่ผ่านการเตรียมที่ดีและผ่านการปรุงสุกจะช่วยให้ มีความปลอดภัยจากเชื้อโรคไข้หวัด 2009 นี้

วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2552

วันไปรษณีย์โลก


วันไปรษณีย์โลกในวันที่ 9 ตุลาคม ของทุกๆ ปี จะมีการจัดงานเฉลิมฉลอง วันไปรษณีย์โลก (World Post Day) ซึ่งถือเป็นการครบรอบการก่อตั้งองค์การไปรษณีย์สากล (UPU) ขึ้นในปี 1874 ที่เมืองสวิตส์,เบิร์น และได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันไปรษณีย์โลก โดยมติที่ประชุมองค์การไปรษณีย์สากลของโตเกียวประเทศญี่ปุ่นในปี 1969

นับแต่นั้นมาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในวันนี้ของทุกปี ที่ทำการไปรษณีย์ในหลาย ๆ ประเทศใช้เป็นวันแนะนำสินค้าและบริการใหม่ๆ ของไปรษณีย์ และมีการจัดทำไปรษณีย์ยากรชุดพิเศษขึ้นมาเพื่อจัดจำหน่ายโดยมีระยะสิ้นสุดในวันที่ 9 ตุลาคม จะมีการส่งสารวันไปรษณีย์โลก จาก ผู้อำนวยการขององค์การไปรษณีย์สากลไปยังที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วโลก เพื่ออ่านคำเฉลิมฉลองผ่านสื่อไปทั่วโลก

การไปรษณีย์ในประเทศไทย

การไปรษณีย์ในประเทศไทย

สำหรับกำเนิดของการไปรษณีย์ในประเทศไทยนั้นย่อมกล่าว ได้ว่าได้รับอิทธิพลจากการที่กงสุลอังกฤษได้นำเอาระบบการติดต่อสื่อสาร ทางไปรษณีย์มาใช้ติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับ สิงคโปร์ กล่าวคือ ในราวปี พ.ศ. 2410 ปลายรัชสมัยแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ประเทศไทยได้มีการติดต่อค้าขายและสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมากขึ้น มีสถานกงสุลต่างประเทศเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ หลายแห่ง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับชาวต่างประเทศในเรื่องธุรกิจการค้า การศาสนามีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นกว่ากาลก่อน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องติดต่อส่งข่าวไปมากับต่างประเทศมากขึ้น กงสุลอังกฤษเห็นความจำเป็นดังกล่าวนี้ จึงได้จัดการเปิดรับบรรดาจดหมายเพื่อส่งไปมาติดต่อกับต่างประเทศขึ้น โดยใช้สถานที่ตึกยามท่าน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหลังกงสุลอังกฤษเปิด ทำการ โดยใช้ตราไปรษณียากรของสหพันธรัฐมลายาและอินเดีย ซึ่งพิมพ์อักษร "B" ประทับลงบนดวงตราไปรษณียากรนั้น ๆ แทนคำว่า "Bangkok" จำหน่ายแก่ผู้ต้องการส่งจดหมายไปต่างประเทศ แล้วส่งจดหมายเหล่านั้นไปประทับตราวันที่ที่สิงคโปร์ โดยฝากไปกับเรือค้าขายภายใต้ร่มธงอังกฤษเพื่อให้ที่ทำการไปรษณีย์สิงคโปร์จัดส่งจดหมายนั้นไปปลายทาง (การรับ-ส่งจดหมายของกงสุลนี้ได้มีมาช้านานจนกระทั่ง พ.ศ. 2425 จึงได้เลิกไป)

การเริ่มงานไปรษณีย์ติดต่อต่างประเทศโดยกงสุลอังกฤษเป็นผู้จัดการนี้คงจะยังความสนใจให้บังเกิดขึ้นแก่ประชาชนชาวไทยหาน้อยไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ดังจะเห็นได้จาก การสื่อสารในรูปการไปรษณีย์ที่เกิดขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2418 -2419 ภายในพระบรมมหาราชวังและเขตพระนครชั้นใน

ในปีพ.ศ.2418 มีพระบรมวงศานุวงศ์ประกอบด้วยเจ้านายรวม11 พระองค์ ภายใต้การนำของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงร่วมกันออกหนังสือพิมพ์รายวันขึ้นฉบับหนึ่ง มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "Court" และภาษาไทยว่า "ข่าวราชการ" เป็นหนังสือแจ้งข่าว ความเคลื่อนไหวเกี่ยวด้วยข้อราชการและความเป็นไปภายในพระราชสำนัก ซึ่งได้พิมพ์ออกเป็นฉบับแรกเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2418 ความมุ่งหมายใน การจัดพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นแต่เดิม พระบรมวงศานุวงศ์กลุ่มนี้ได้ตั้งพระหฤทัยที่จะผลัดเวรกันทรงนิพนธ์เรื่องที่สำหรับจะทูลเกล้าฯ ถวาย และบอกกันใน หมู่เจ้านาย

ครั้นเมื่อหนังสือพิมพ์ข่าวราชการปรากฎขึ้นไม่ช้าก็มีผู้สนใจต้องการพากันมาทูลขอมากขึ้น ต้องพิมพ์เป็นจำนวนมากฉบับกว่าที่ทรงคาดหมายไว้แต่เดิมหลายเท่าจึงจำต้องคิดราคาพอคุ้มทุนที่ลงไปส่วนการจำหน่ายนั้น ชั้นเดิมผู้ต้องการต้องไปรับหนังสือที่สำนักงาน ณ หอนิเพทพิทยาคม ในพระบรมมหาราชวังทุกวัน ต่อมาการไปรับหนังสือไม่พร้อมกันต้องเก็บหนังสือรอค้างไว้จ่ายเป็นจำนวนมาก จึงเป็นความจำเป็นอันหนึ่งที่ทำให้การไปรษณีย์เกิดขึ้น ผู้ทรงเป็นต้นคิดในการนี้ คือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ พระองค์ทรงโปรดให้มีบุรุษเดินหนังสือข่าวราชการส่งให้แก่สมาชิกขึ้นเรียกว่า "โปสตแมน" และเนื่องในการส่งหนังสือนี้จึงทรงโปรดให้มีตั๋ว "แสตมป์" ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยสำหรับใช้เป็นค่าเดินส่งหนังสือแล้วเลยทรงอนุญาตให้สมาชิกผู้รับหนังสือข่าวราชการ ซื้อตั๋วแสตมป์นั้นไปปิดจดหมายของตนในเมื่อต้องการให้บุรุษผู้เดินส่งหนังสือข่าวราชการนี้ช่วยเดินจดหมายให้ หนังสือข่าวราชการนี้ได้ออกมาชั่วระยะเวลาหนึ่งและได้หยุดเลิกไปเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2419 จึงเป็นเหตุให้การส่งหนังสือและจดหมายถึงกันโดยทางไปรษณีย์พิเศษที่ได้จัดทำขึ้นในครั้งนั้นต้องเลิกไปด้วย

มีหลักฐานปรากฎในจดหมายเหตุของหลวงว่าประมาณกลางปี พ.ศ. 2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ข้าราชการสำนักในต้นรัชกาลที่ 5) ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้ทรงพระราชดำริจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย เรื่องการจัดตั้งการไปรษณีย์ตามที่เจ้าหมื่นเสมอใจราช ได้นำความกราบบังคมทูลคงจะต้องด้วยพระราชดำริของพระองค์ท่านแต่ทรงเห็นว่าเป็นงานใหญ่ ต้องใช้ทุนรอนมาก หากพลาดพลั้งไปจะเสียหายได้ ควรที่จะได้ศึกษาดูประเทศใกล้เคียงเพื่อเป็นประสบการณ์และแนวทางก่อน จึงโปรดฯ ให้เจ้าหมื่นเสมอใจราชเดินทางไปศึกษาดูงานการไปรษณีย์ที่ประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่นซึ่งก็ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดีและทรงมีพระราชดำริว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงสนพระทัยและทรงเข้าใจเรื่องการไปรษณีย์ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงออกหนังสือข่าวราชการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เป็น ผู้นำในการจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเส็ง ตรีศก จุลศักราช 1243 (ตรงกับวันที่ 2 กรกฏาคม 2424) โดยร่วมมือกับ เจ้าหมื่นเสมอใจราช

การดำเนินการเพื่อจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทยได้ดำเนินต่อ มาโดยได้มีชาวต่างประเทศช่วยเหลือดำเนินการด้วยที่สำคัญคือ นายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ จนกระทั่งในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2426 สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงมีหนังสือลงวันพฤหัสบดีแรม 14 ค่ำ เดือน 8 ปีมะแม เบญจศก 1245 กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงทราบว่า การเตรียมการต่าง ๆ เกือบจะเรียบร้อยแล้ว เห็นควรที่จะประกาศเปิดการไปรษณีย์ขึ้นในกรุงเทพฯ ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ปีมะแม เบญจศก 1245 (ตรงกับวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ) และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มีกฎหมายแผ่นดินสำหรับการไปรษณีย์ขึ้นไว้เป็นหลักฐานตามความเห็นชอบของนายอาลาบาสเตอร์ ซึ่งเสนอหลักการไว้และหลังจาก ทรงพระราชวินิจฉัยแล้วให้ใช้บังคับได้ จึงนับว่าเป็นกฎหมาย ไปรษณีย์ฉบับแรกของไทย

อย่างไรก็ตามในระยะเวลาใกล้เคียงกันสถานกงสุลอังกฤษซึ่งได้เปิดดำเนินการรับส่งจดหมายระหว่างกรุงเทพฯ กับ สิงคโปร์มาตั้งแต่ตอนปลายรัชกาลที่ 4 ได้มีหนังสือถึงรัฐบาลไทยลงวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2426 อ้างว่าข้าหลวงใหญ่ที่สิงคโปร์ ให้สอบถามรัฐบาลไทยเรื่องรัฐบาลสิงคโปร์ มลายู (Straits Settlement) ขอจัดตั้งไปรษณีย์สาขาของอังกฤษขึ้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งขอมีอำนาจสิทธิขาดในการจำหน่ายตราไปรษณียากร และ รับฝากจดหมายติดต่อกับต่างประเทศทั้งหมด โดยนายนิวแมน (Newman) รักษาการแทนกงสุลอังกฤษในขณะนั้นอ้างว่า นายปัลเดรฟ กงสุลอังกฤษได้พูดกับรัฐบาลไทยหลายครั้งแล้ว แต่ทางรัฐบาลไทยได้มีหนังสือ ลงวันจันทร์แรม 11 ค่ำ เดือน 8 ปีมะแม เบญจศก 1245 (ตรงกับวันที่ 30 กรกฎาคม 2426) ตอบกงสุลอังกฤษไปว่าไม่เคยเจรจากับ นายปัลเดรฟ เกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใดและไม่อนุญาตให้รัฐบาลสิงคโปร์ มลายู จัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์สาขา เพราะรัฐบาลไทยกำลังจะเปิดการไปรษณีย์ขึ้นเร็ว ๆ นี้ เมื่อเปิดดำเนินการแล้ว จะได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพสากลไปรษณีย์ด้วย

เมื่อการตระเตรียมวางระเบียบแบบแผนจนสำเร็จเรียบร้อย พร้อมที่จะเปิดใช้การได้แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมไปรษณีย์ขึ้น ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2426 เป็นปฐม มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือปากคลองโอ่งอ่าง และในวันเดียวกันนี้เอง (ซึ่งตรงกับวันเสาร์เดือนเก้าขึ้นค่ำหนึ่ง ปีมะแม เบญจศก 1245) ก็ได้มีประกาศเปิดการไปรษณีย์ทดลองในกรุงเทพฯโดยกำหนดให้มีบริการไปรษณีย์ภายในอาณาเขต ดังนี้คือ

1.ด้านเหนือ ถึง สามเสน
2.ด้านตะวันออก ถึง สระประทุม
3.ด้านใต้ ถึง บางคอแหลม
4.ด้านตะวันตก ถึง ตลาดพลู

การเปิดบริการไปรษณีย์ในเขตกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ปรากฎว่า เมื่อดำเนินการมาได้เดือนเศษ ปรากฎว่ามีผู้ใช้บริการมาก ได้ยังความชื่นชม สมพระราชหฤทัยมาก ดังจะเห็นได้จากกระแสพระราชดำรัส ซึ่งทรงพระราชทานแด่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อย ข้าทูลละออง ธุลีพระบาท ราชทูตอเมริกันและท่านเอเย่นต์กอมิสแซและกงสุลต่างประเทศ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา เมื่อวัน ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2426 มีความตอนหนึ่งว่า

" การไปรษณีย์ซึ่งได้เปิดใช้โดยส่งหนังสือในแขวงจังหวัดกรุงเทพฯ เสมอนั้น ก็เป็นที่แปลกใจของเราที่ไม่คิดว่าคนไทยจะใช้หนังสือกันถึงเพียงนี้ ทำให้เรามีความประสงค์ที่จะจัดการให้ได้ส่งหนังสือไปมาให้ได้ตลอดพระราชอาณาจักรสยามได้โดยเร็ว จะเป็นประโยชน์ในการค้าขายแลทางราชการมาก แล้วภายหลังเราหวังใจว่าคงจะทำตามคำเชิญของท่านผู้จัดการไปรษณีย์ใหญ่ในกรุงเยอรมนี ให้กรุงสยามเข้าจัดการส่งหนังสือไปมาได้ทั่วโลก คือเข้าในหมู่พวกการไปรษณีย์อันรวมกัน "

วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2552

วันแม่แห่งชาติ

วันแม่แห่งชาติ หรือที่คนไทยทั่วไปนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า "วันแม่" ทุกคนรับทราบและซาบซึ้งกันดี เนื่องจากวันสำคัญนี้ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถคือ วันที่ 12 สิงหาคม อันเป็นวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพและถือว่าเป็นวันแม่ของชาติด้วย

แต่เดิมนั้น วันแม่ของชาติได้กำหนดเอาไว้วันที่ 15 เมษายนของทุก ๆ ปี ทั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีประกาศรับรอง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2493 ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่าการจัดงานวันแม่ของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติผู้รับมอบหมายให้จัดงาน วันแม่ มาตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2493 เป็นครั้งแรกเป็นต้นมานั้นได้รับความสำเร็จด้วยดี ด้วยประชาชนให้การสนับสนุนจนสามารถขยายขอบข่ายของงานให้กว้างขวางออกไป มีการจัดพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา การประกวดคำขวัญวันแม่ การประกวดแม่ของชาติ เพื่อให้เกียรติและตระหนักในความสำคัญของแม่ และเพื่อเพิ่มความสำคัญของวันแม่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยเหตุนี้งานวันแม่จึงเป็นวันแม่ประจำปีของชาติตามประกาศของรัฐบาลฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่โดยทั่วไปเรียกกันว่าวันแม่ของชาติ
ต่อมาถึง พ.ศ.2519 ทางราชการได้เปลี่ยนใหม่ให้ถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ คือ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ เริ่มในปี พ.ศ.2519 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
วันแม่แห่งชาติ เป็นวันที่ทางราชการกำหนดในวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี และถือว่าเป็นวันสำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทย โดยกำหนดให้ถือว่า "ดอกมะลิ" สีขาวบริสุทธิ์เป็นสัญลักษณ์ของความดีงามของแม่ผู้ให้กำเนิดแก่เรา

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันแม่แห่งชาติ

ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน
จัดกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับวันแม่ เช่น การจัดนิทรรศการ
จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ทำบุญใส่บาตรอุทิศส่วนกุศล เพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่
นำพวงมาลัยดอกมะลิไปกราบขอพรจากแม่