สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2407 เป็นพระเจ้าลูกเธอชั้นเล็ก โดยรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระเชษภคินีอีก 2 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ) และพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปนั้น พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระองค์แรกของไทย ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์สภานายิกา สภากาชาดไทยพระองค์แรกอีกด้วย
พระราชประวัติ
[แก้] พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 66 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นลำดับที่ 4 ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม (ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา) ทรงพระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม 7 ค่ำ ปีกุน เบญศก จ.ศ. 1225 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2407 พระองค์ได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระบรมราชบิดาเมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 10 ค่ำ โดยมีรายละเอียด ดังนี้[1]
"ศุภมัสดุ สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามผู้พระบิดา ขอตั้งนามบุตรีหญิงซึ่งประสูติแต่เปี่ยมเป็นมารดา ในวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม 7 ค่ำ ปีกุน เบญศกนั้นว่าดังนี้ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี วรรคบริวารนามเดิมเป็นอาทิและอันตอักษร ขอพรคุณพระรัตนตรัยและพรเทวดารักษาพระนครและพระราชวัง จงได้โปรดให้เจริญชนมายุพรรณสุขพลปฏิภาณสารสิริสมบัติศรีสวัสดิพิพัฒมงคล ศุภผลพิบูลยทุกประการ เทอญ"
นอกจากนี้ พระองค์ยังได้รับพระราชทานพรเป็นภาษามคธจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงพระนิพนธ์แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า[2]
"ขอธิดาของเรา ซึ่งเป็นบุตรีอันดีของเปี่ยมคนนี้ จงปรากฏโดยนามว่าโสภาสุทธสิริมตี (เสาวภาผ่องศรี) เถิด ขอเธอจงมีสุข แลไม่มีโรค มีอิสริยยศประเสริฐสุด ปราศจากโทษ อันใคร ๆ อย่าคุมเหงได้ทุกเมื่อ จงเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์ใหญ่ มีโภคสมบัติมาก อันคนเป็นอันมากนิยมนับถือ ขอเธอจงรักษาเกียรติยศของบิดามารดาไว้ทุกเมื่อ จงทำนุบำรุงพี่น้องชายหญิงอันดี ขออานุภาพพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จงรักษาเธอทุกเมื่อเทอญ"
พระองค์ทรงมีพระเชษฐาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดาทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์นั้น พระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีพระปัญญาที่เฉียบแหลมมาก แต่ก็ทรงไม่เชื่อฟังมากเช่นเดียวกัน เช่น เวลาทรงพระอักษร ก็ทรงไม่ยอมทรงอ่านดังๆ พระอาจารย์อ่านถวายไปเท่าใด พระองค์ท่านก็ทอดพระเนตรตามไปเฉยๆ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นรัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระฐานันดรศักดิ์ของพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี จึงเปลี่ยนเป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี
[แก้] สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรก
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ. 2440 จึงทรงมอบหมายให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินได้เรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก ด้วยพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถจรรยนุวัติปฏิบัติ ประกอบด้วยพระราชอัธยาศัยสภาพสมด้วยพระองค์เป็นขัติยนารีนาถ และกอปรด้วยพระกรุณภาพยังสรรพกิจทั้งหลายที่ได้ทรงพระราชทานปฏิบัติมาล้วนแต่เป็นเกียรติคุณแก่ประเทศสยามทั่วไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามาภิไธย จาก สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี เป็น "สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี บรมราชินีนาถ"[3] เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของประเทศไทย
หลังจากนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงพระราชดำริว่า พระราชประเพณีได้เคยมีมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกใหม่ ได้ทรงสถาปนาพระราชอิสริยยศแลเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระพันปีหลวงฉลองพระเดชพระคุณเป็นปฐม เพื่อเป็นศุภมงคลและราชสมบัติ พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า "สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง"[4]
[แก้] สวรรคต
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ทรงพระประชวรเรื้อรัง มีอาการไข้ รวมทั้งมีอาการพิษขึ้นในพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) จึงเสด็จสวรรคตวันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2462 พระชนมายุ 57 พรรษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์สรงน้ำพระบรมศพ และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพประกอบพระลองทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มุขตะวันตก ภายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงบำเพ็ญพระกุศลอุทิศถวายฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมราชชนนี[5]
พระราชโอรสและพระราชธิดา
พระองค์ทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดาทั้งสิ้น 14 พระองค์ โดยเป็นพระราชโอรส 7 พระองค์ พระราชธิดา 2 พระองค์ และตกเสีย 5 พระองค์ โดย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ (พ.ศ. ๒๔๒๑-๒๔๓๐)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๒๓-๒๔๖๘)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง (พ.ศ. ๒๔๒๔-๒๔๓๐)
จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (พ.ศ. ๒๔๒๕-๒๔๖๓)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ (พ.ศ. ๒๔๒๘-๒๔๓๐)
สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง (ประสูติเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2430 แต่สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ)
พลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (พ.ศ. ๒๔๓๒-๒๔๖๗)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (พ.ศ. ๒๔๓๕-๒๔๖๖) และ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๘๔)
[แก้] พระราชกรณียกิจ
ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ตั้งโรงเรียน และจ่ายเงินเดือนครูในโรงเรียนต่าง ๆ เช่น
โรงเรียนราชินี
โรงเรียนราชินีบน
โรงเรียนทวีธาภิเศก
โรงเรียนเสาวภา ปัจจุบันคือ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา
โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาล ปัจจุบัน คือ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โรงเรียนวิเชียรมาตุ และ โรงเรียนสภาราชินี (จังหวัดตรัง)
โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมถ์ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
โรงเรียนราชินีบูรณะ (จังหวัดนครปฐม)
โรงเรียนศรียานุสรณ์ (จังหวัดจันทบุรี)
โรงเรียนสตรีราชินูทิศ (จังหวัดอุดรธานี)
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงพระมหากรุณาแก่ประชาชนที่ได้รับความเจ็บไข้ได้ป่วย นอกจากจะทรงสนับสนุนการก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ตั้งโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาล สำหรับเป็นสถานศึกษาวิชาพยาบาลและผดุงครรภ์ของสตรีแล้ว ยังทรงเป็นผู้นำชักชวนสตรีไทยให้เลิกการอยู่ไฟ หันมาใช้วิธีการพยาบาลแบบฝรั่งซึ่งสุขสบายและได้ผลดีกว่า นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีส่วนร่วมในการจัดตั้งสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทย)
[แก้] พระอิสริยยศ
พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี
พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี
พระนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี
พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี
พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ นับเป็นตำแหน่งพระอัครมเหสีสูงศักดิ์กว่าพระมเหสีอื่นใด
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง
[แก้] ราชตระกูล
พระราชตระกูลในสามรุ่นของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง
พระชนก:พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระอัยกาฝ่ายพระชนก:พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนก:สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:เจ้าขรัวเงิน
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์
พระชนนี:สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา
พระอัยกาฝ่ายพระชนนี:หลวงอาสาสำแดง (แตง)
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:ไม่ทราบ
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:ไม่ทราบ
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี:ท้าวสุจริตธำรง (นาค)
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:ไม่ทราบ
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:ไม่ทราบ
[แก้] อ้างอิง
^ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, คาถาพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามพระราชโอรสธิดา, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2472
^ แสงเทียน ศรัทธาไทย, หน้า 238
^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศในการที่ออกพระนามสมเด็จพระบรมราชินีนารถ, เล่ม ๑๔, ตอน ๑, ๔ เมษายน พ.ศ. ๑๘๙๗, หน้า ๑๐
^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย, เล่ม ๒๗, ตอน ๐ง, ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓, หน้า ๒๐๒๒
^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระอาการสวรรคตแห่งสมเด็จพระพันปีหลวง, เล่ม ๓๖, ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒, หน้า ๒๐๖๙
[แก้] หนังสือ
อุทุมพร สุนทรเวช, สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี, นำอักษรการพิมพ์, 2540 ISBN 974-7060-32-9
จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, สมเด็จพระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๕, มติชน, 2546 ISBN 974-322-964-7
แสงเทียน ศรัทธาไทย, สามราชินีคู่บัลลังก์ ร.๕, สำนักพิมพ์ร่มฟ้าสยาม, 2539 ISBN 974-91483-0-4
[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น
พิมาน แจ่มจรัส, รักในราชสำนัก, โอเดียนการพิมพ์, 2510 ISBN 974-341-064-3
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น