เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณกิโลเมตรที่ 137 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าบ้านยางที่ตลาดแม่ข่า เข้าไปอีกประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นทางลาดยาง สูงและคดเคี้ยว ต้องใช้รถสภาพดีและมีกำลังสูง คนขับชำนาญ หรือจะหาเช่ารถสองแถวได้ที่ตลาดแม่ข่า
ลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะทำให้อากาศบนดอยหนาวเย็นตลอดปีโดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อากาศเย็นจนน้ำค้างกลายเป็นน้ำค้างแข็ง นักท่องเที่ยวจึงควรเตรียมเครื่องกันหนาวมาให้พร้อม เช่น หมวก ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อกันหนาว
สถานที่น่าสนใจบนดอยมีหลายแห่ง ได้แก่
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง เรื่องกำเนิดของสถานีฯ แห่งนี้เป็นเกร็ดประวัติเล่ากันต่อมาว่าครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จทางเฮลิคอปเตอร์ผ่านยอดดอยแห่งนี้และทอดพระเนตรลงมาเห็นหลังคาบ้านคนอยู่กันเป็นหมู่บ้าน จึงมีพระดำรัสสั่งให้เครื่องลงจอด เมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงมาทอดพระเนตรเห็นทุ่งดอกฝิ่น และหมู่บ้านตรงนั้นก็คือหมู่บ้านของชาวเขาเผ่ามูเซอซึ่งในสมัยนั้นยังไว้แกละถักเปียยาว แต่งกายสีดำ สะพายดาบ พระองค์มีพระราชดำรัสที่จะแปลงทุ่งฝิ่นให้เป็นแปลงเกษตร สถานีฯ จึงเกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2512มีโครงการวิจัยผลไม้ ไม้ดอกเมืองหนาว งานสาธิตพืชไร่ พืชน้ำมัน โดยมุ่งที่จะหาผลิตผลที่มีคุณค่าพอที่จะทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวเขา และทำการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมแก่ชาวเขาในบริเวณใกล้เคียง
พรรณไม้ที่ปลูก
- ไม้ผล เช่น บ๊วย ท้อ พลัม แอปเปิล สาลี่ พลับ กีวี องุ่น ราสป์เบอร์รี กาแฟพันธุ์อาราบิกา นัตพันธุ์ต่างๆ
- ไม้ดอก เช่น แกลดิโอลัส เยอบีราพันธุ์ยุโรป สแตติส ยิบโซฟิลลา คาร์เนชั่น อัลสโตรมีเรีย ลิลี ไอริส แดฟโฟดิล
- ผัก เช่น ซูกินี เบบีแครอต กระเทียมต้น หอมญี่ปุ่น ผักกาดฝรั่ง แรดิช เฟนเนล มันฝรั่ง ถั่วแดงหลวง และถั่วพันธุ์อื่นๆ
ในพื้นที่ดอยอ่างขางยังมีการฟื้นฟูสภาพป่าโดยตรง ด้วยการปลูกป่าด้วยพรรณไม้หลายชนิด ละการทิ้งพื้นที่แนวป่าให้พรณไม้เกิดและเติบโตเองโดยธรรมชาติ มีทั้งพรรณไม้ท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ไม้ก่อ แอปเปิลป่า นางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระ และพรรณไม้โตเร็วจากไต้หวัน 5 ชนิด คือ กระถินดอย เมเปิลหอม การบูร จันทน์ทอง และเพาโลเนีย
ที่สถานีฯยังเป็นแหล่งเที่ยวชมวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านชาวไทยภูเขาต่างๆ ได้แก่ เผ่ามูเซอดำ ปะหล่อง และจีนฮ่อ รวมทั้งชมความงามตามธรรมชาติของผืนป่า กิจกรรมดูนกซึ่งมีนกทังนกประจำถิ่นและนกหายากต่างถิ่น พร้อมผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย งานส่งเสริมเกษตรกรจำหน่ายใต้ตราสินค้า "ดอยคำ" และที่พักทั้งในรูปแบบรีสอร์ท บ้านพักแบบกระท่อมและลานกางเต็นท์พร้อมอาหารและเครื่องดื่มบริการ
สวนบอนไซ อยู่ในบริเวณสถานีฯ เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้เขตอบอุ่นและเขตหนาวทั้งในและต่างประเทศ ปลูก ดัด แต่ง โดยใช้เทคนิคบอนไซ สวยงามน่าชม และในบริเวณเดียวกันยังมีสวนสมุนไพร ฤดูท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม
หมู่บ้านคุ้ม ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีฯ เป็นชุมชนเล็ก ๆประกอบด้วยผู้อยู่อาศัยหลายเชื้อชาติอยู่รวมกัน อาทิชาวไทยใหญ่ ชาวพม่าและชาวจีนฮ่อ ซึ่งได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้และเปิดร้านค้าบริการแก่นักท่องเที่ยว
จุดชมวิวกิ่วลม อยู่ทางด้านซ้ายมือก่อนถึงทางแยกซึ่งจะไปหมู่บ้านปะหล่องนอแลทางหนึ่ง และบ้านมูเซอขอบด้งทางหนึ่ง สามารถชมทะเลหมอกและวิวพระอาทิตย์ทั้งขึ้นและตก มองเห็นทิวเขารอบด้านและหากฟ้าเปิดจะมองเห็นสถานีเกษตรหลวงอ่างขางด้วย
หมู่บ้านนอแล ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า คนที่นี่เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่องเชื้อสายพม่า แต่เดิมคนกลุ่มนี้อยู่ในพม่าและพึ่งอพยพมา มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง นับถือศาสนาพุทธ ทุกวันพระผู้คนที่นี่หยุดอยู่บ้านถือศีล จากหมู่บ้านนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์สวยงามของธรรมชาติบริเวณพรมแดนไทย-พม่า
หมู่บ้านขอบด้ง เป็นที่ที่ชาวเขาเผ่ามูเซอดำและเผ่ามูเซอแดงอาศัยอยู่ร่วมกัน คนที่นี่นับถือผี มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวงในด้านการเกษตรและด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน (เช่น อาบูแค เป็นกำไลถักด้วยหญ้าไข่เหามีสีสันและลวดลายในแบบของมูเซอ)
บริเวณหน้าหมู่บ้านจะมีการจำลองบ้านและวิถีชีวิตของชาวมูเซอ โดยชาวบ้าน ครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้งช่วยกันสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มีโอกาสเรียนรู้และศึกษาวัฒนธรรมของหมู่บ้านโดยที่ไม่เข้าไปรบกวนความเป็นส่วนตัวของเขามากเกินไป และยังมีโครงการมัคคุเทศก์น้อยที่อบรมเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้งเพื่อช่วยอธิบายวิถีชีวิตของพวกเขาให้ผู้มาเยือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกและสร้างความรักในท้องถิ่นให้เด็ก ๆ ด้วย
หมู่บ้านหลวง ชาวหมู่บ้านหลวงเป็นชาวจีนยูนานที่อพยพมาจากประเทศจีนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก อาทิ ปลูกผักผลไม้ เช่น พลัม ลูกท้อ และสาลี่
กิจกรรมท่องเที่ยวบนดอยอ่างขาง มีหลายอย่างที่สามารถทำได้เช่น เดินเท้าศึกษาธรรมชาติ ขี่ล่อล่องไพร เป็นต้น
วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น