วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

เขาใหญ่

ประวัติอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่



ป่าดงพญาไฟ หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่าป่าดงพญาเย็น คืออดีตกาลของผืนป่าดงดิบ อันกว้างใหญ่ที่ทอดตัวขวางกั้นระหว่างที่ราบสูงแผ่นดินอีสานและพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ปัจจุบันเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในนามของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งในอดีตมักถูกยกให้เป็นเรื่องเล่าขานถึงความเถื่อนและอันตรายทั้งจากความดิบชื้นของป่า สัตว์ป่าดุร้าย ไข้ป่าและความเชื่อต่างๆ ที่เสริมสร้างให้ภาพลักษณ์ของป่าดงพญาเย็น กลายเป็นตำนานของผืนป่าที่น่ากลัวและอันตรายของทุกผู้คนที่รอนแรมเดินทาง

ในอดีต การเดินทางไปมาหาสู่เพื่อค้าขายระหว่างผู้คนสองฝั่งป่า ต้องเดินทางผ่านป่าดงพญาเย็น ขบวนนายฮ้อยต้อนควายจากภาคอีสานมาขายยังที่ลุ่มภาคกลางหรือขบวนสินค้าจากภาคกลางสู่ตลาดทางอีสานต้องผ่านผืนป่าแห่งนี้ทั้งสิ้น ระหว่างการเดินทางข้ามป่าแห่งนี้ต้องมีการพักแรมระหว่างทางเป็นระยะๆจนกว่าจะหลุดพ้นป่าแห่งนี้ไปยังอีกฝั่งหนึ่ง

จากจุดพักแรมต่างๆในป่าดงพญาเย็นก็ค่อยๆเป็นกลายเป็นชุมชนเล็กๆกลางผืนป่า มีผู้ คนปักหลักทำมาหากินจนกระทั่งถูกยกฐานะขึ้นเป็นตำบลเขาใหญ่ ขึ้นอยู่กับอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก แต่แม้จะถูกยกฐานะขึ้นเป็นตำบลเขาใหญ่ แต่สภาพก็ยังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนเหมือนเดิม เป็นที่ส้องสุมของโจรผู้ร้ายและบรรดาคนนอกกฎหมายทั้งหลาย การปราบปรามของทางราชการเป็นไปอย่างยากลำบาก

ต่อมารัฐบาลในสมัยนั้นจึงได้ยุบตำบลเขาใหญ่และอพยพราษฎรทั้งหมดลงมายังที่ราบเบื้องล่าง “เวลาเราขึ้นไปบนเขาใหญ่ หรือเดินป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เรามักจะพบทุ่งหญ้าคากลางป่านั้น ทุ่งหญ้าเหล่านั้น ก็คือพื้นที่ทำกินของชาวบ้านตำบลเขาใหญ่ในอดีตนั่นเอง”

ต่อมาในปี 2502 สมัยของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ไปตรวจราชการทางภาคเหนือและเห็นว่าผืนป่าแห่งนี้มีสภาพธรรมชาติอันสมบูรณ์ จึงได้บัญชาให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรร่วมมือและประสานงานกันจัดตั้งระบบอุทยานแห่งชาติขึ้น มีนิยมไพรสมาคม โดยนายแพทย์ บุญส่ง เลขะกุล เป็นผู้มีส่วนช่วยผลักดันให้มีการออก พ.รบ.อุทยานแห่งชาติขึ้น และต่อมาในปี 2505 ก็มีประกาศให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเป็นแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมทั้งอุทยานแห่งชาติอื่นๆอีก 14 แห่ง

…………..ชื่อป่าดงพญาไฟ จึงกลายเป็นตำนานของป่าเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ไม่มีความคิดเห็น: