ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation)
BIMSTEC หรือ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) เป็นกรอบความร่วมมือระหว่าง 7 ประเทศในภูมิภาคอ่าวเบงกอล ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย โดยประเทศสมาชิกจะต้องมีภูมิประเทศติดอ่าวเบงกอล หรือพึ่งพิงอ่าวเบงกอลเป็นหลัก
BIMSTEC เริ่มก่อตั้งขึ้นครั้งแรกจากสมาชิก 4 ประเทศ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 ภายใต้ชื่อ BIST-EC (Bangladesh-India-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation) (คลิกที่นี่ เพื่อดู คำแถลงการณ์ก่อตั้ง BIST-EC เมื่อเดือนมิถุนายน 2540) ภายใต้การริเริ่มและผลักดันของไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น BIMST-EC (Bangladesh-India-Myanmar-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation) เมื่อพม่าเข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2540 ต่อมาในเดือนธันวาคม 2546 เนปาลและภูฏานได้เข้าร่วมประชุมในฐานะสมาชิกใหม่
BIMSTEC ได้เปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันโดยใช้ตัวย่อเดิม (คลิกที่นี่ เพื่อดูคำแถลงการณ์การรับพม่าเข้าเป็นสมาชิก เมื่อเดือนธันวาคม 2540) ในการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกที่มีขึ้น ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 ที่ผ่านมk
BIMSTEC
ความสำคัญของ BIMSTEC
กลุ่ม BIMSTEC ถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยมีประชากรรวมถึง 1,300 ล้านคน แต่ปัจจุบันยังมีการค้า การลงทุน และการเดินทางติดต่อระหว่างกันค่อนข้างน้อย ทำให้ยังมีโอกาสและลู่ทางในการที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการค้าการลงทุนนั้น ประเทศสมาชิกได้ลงนามในกรอบความตกลงเขตการค้าเสรี BIMSTEC แล้ว และทุกประเทศได้เสร็จสิ้นกระบวนการภายในประเทศสำหรับการให้สัตยาบันแล้วเช่นกัน ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (TNC) กำลังดำเนินอยู่ โดยมีเป้าหมายเร่งรัดเจรจาด้านตัวสินค้าก่อนเป็นลำดับแรกให้เสร็จสิ้นเพื่อเริ่มลดภาษีได้ในกลางปี 2549 และได้เริ่มการเจรจาเรื่องการลงทุน และการค้าบริการแล้ว
สำหรับประเทศไทยแล้ว BIMSTEC จะช่วยประสานนโยบาย Look West ของไทย เข้ากับนโยบาย Look East ของอินเดีย และช่วยเน้นจุดยืนนโยบายต่างประเทศแบบ Forward Engagement ของรัฐบาลปัจจุบันที่มุ่งเน้นกระชับความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรเดิม และบุกเบิกความสัมพันธ์กับพันธมิตรใหม่ๆ นอกจากนี้ ความร่วมมือที่ประสานจุดแข็งของแต่ละประเทศเข้าด้วยกันใน BIMSTEC ก็เป็นการส่งเสริมความริเริ่มของไทยที่นำมาใช้ได้ผลเป็นที่ยอมรับในหลายเวที ทั้ง ACD และ ACMECS ซึ่งความสำเร็จในเวทีนี้ ก็จะเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (south-south cooperation) ที่จะทำให้ไทยมีบทบาทสร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศต่อไป
ความคืบหน้าล่าสุด
หลังจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ BIMSTEC ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2548 ณ กรุงธากา สาขาความร่วมมือใน BIMSTEC เพิ่มขึ้นจากเดิม 6 สาขาเป็น 13 สาขา ได้แก่ 1) การค้าและการลงทุน (ซึ่งอาจแยกออกเป็นอีก 3 สาขาได้แก่ การค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน) 2) การท่องเที่ยว 3) การสื่อสารและคมนาคม 4) พลังงาน 5) เทคโนโลยี 6) ประมง 7) เกษตร 8) การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ 9) ปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน 10) สาธารณสุข 11) วัฒนธรรม 12) การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ 13) การลดความยากจน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติให้ขยายระยะเวลาดำเนินการของศูนย์ BIMSTEC ที่มีกำหนดจะครบวาระในกลางปี 2549 ออกไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งสำนักเลขาธิการขึ้น นอกจากนี้ ยังจะมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องการจัดตั้งสำนักเลขาธิการ ตลอดจนกฎบัตรของ BIMSTEC เพื่อให้ที่ประชุมผู้นำครั้งที่ 2 ที่อินเดียจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในต้นปี 2550 พิจารณาต่อไปด้วย
การประชุมสำคัญ
การประชุมระดับผู้นำ (BIMSTEC Summit): นายกรัฐมนตรีศรีลังกากล่าวในสุนทรพจน์เปิดการประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 5 ในเดือนธันวาคม 2545 ณ กรุงโคลัมโบ ว่าถึงเวลาแล้วที่ BIMSTEC จะยกระดับการประชุมเป็นระดับผู้นำรัฐบาล ซึ่งสมาชิกต่างเห็นพ้องด้วย และไทยก็ได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำครั้งแรก ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 ณ กรุงเทพฯ
การประชุมระดับผู้นำเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่จะผลักดันให้กรอบความร่วมมือมีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสะท้อนถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองและการสนับสนุนตามกระบวนการ Top-down เพื่อผลักดันกรอบความร่วมมือ BIMSTEC ในระดับนโยบายต่อไป
การประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Meeting): เดิมมีการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำ 2 การประชุมด้วยกัน ได้แก่
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ (Ministerial Meeting: MM) ทำหน้าที่เป็น prime mover ในการกำหนดนโยบายภาพรวมและให้คำแนะนำแก่การประชุมผู้นำ และได้รับมอบหมายจากที่ประชุมผู้นำให้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลักในกรอบ BIMSTEC
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 1 จนถึงการประชุมครั้งที่ 4 ได้จำกัดอยู่เพียงระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จนถึงการประชุมครั้งที่ 5 ณ กรุงโคลัมโบ เมื่อเดือนธันวาคม 2545 ที่ได้ยกระดับเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
การประชุมรัฐมนตรีการค้า/เศรษฐกิจ (Trade/Economic Ministerial Meeting: TEMM) จะติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานในสาขาการค้าและการลงทุน และนโยบายเขตการค้าเสรี
ต่อมาในการประชุมผู้นำครั้งที่ 1 ได้มีการเสนอจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีในสาขาอื่นๆ ขึ้น ได้แก่
การประชุมโต๊ะกลมและเชิงปฏิบัติการระดับรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยว BIMSTEC (Roundtable and Workshop for BIMSTEC Tourism Ministers) ซึ่งอินเดียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 1 ไปเมื่อ 21-23 กุมภาพันธ์ 2548 ณ เมืองกัลกัตตา โดยเนปาลได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 2 ในเดือนมิถุนายน 2549
การประชุมรัฐมนตรีพลังงาน BIMSTEC (BIMSTEC Energy Ministers’ Conference) ซึ่งอินเดียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อ 4 ตุลาคม 2548 ณ กรุงนิวเดลี โดยไทยได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 2 ในปี 2549
การประชุมรัฐมนตรีด้านการลดความยากจน บังกลาเทศได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่าง 30-31 มีนาคม 2549 ณ กรุงธากา
การประชุมรัฐมนตรีด้านความร่วมมือทางวัฒนธรรม ภูฏานได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2549
การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Meeting): แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ
1. ด้านการค้าและเศรษฐกิจ (Senior Trade/Economic Officials’ Meeting: STEOM) รับผิดชอบการเจรจาเรื่องเขตการค้าเสรี BIMSTEC (FTA) ความร่วมมือในสาขาหลักด้านการค้าและการลงทุน และ 15 สาขาย่อยของสาขาการค้าและการลงทุน ซึ่งมีรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าและเศรษฐกิจ
2. ด้านต่างประเทศ (Senior Official’s Meeting - SOM) มีหน้าที่ติดตามความคืบหน้าในสาขาอื่นๆ นอกเหนือจากสาขาการค้าและการลงทุน โดยรับรายงานจากที่ประชุม BIMSTEC Working Group จากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศต่อไป
การประชุมคณะทำงาน BIMSTEC ที่กรุงเทพฯ (BIMSTEC Working Group in Bangkok: BWG): เป็นการประชุมร่วมระหว่างอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกประจำประเทศไทย และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การประชุมจะมีขึ้นทุกเดือน ณ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อติดตามและผลักดันความคืบหน้าในแต่ละสาขาความร่วมมือ และเพื่อศึกษาแนวทางและนโยบายของความร่วมมือก่อนเสนอรายการต่อที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส
ในการนี้ไทยได้จัดตั้งศูนย์ BIMSTEC (BIMSTEC Center) ขึ้นเป็นโครงการนำร่องเพื่อสนับสนุนการทำงานของ BWG โดยตั้งอยู่ที่สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
การประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญ (Expert Group Meeting): ประเทศนำของสาขาหลักและสาขาย่อยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่รับผิดชอบอย่างสม่ำเสมอและรายงานผลการประชุมต่อคณะทำงาน BIMSTEC (BWG) ที่กรุงเทพฯ ผ่านสถานเอกอัครราชทูต BIMSTEC ประจำประเทศไทย ผลการประชุมดังกล่าวจะถูกเสนอต่อที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสต่อไป
การประชุม Business Forum และ Economic Forum: เป็น 2 การประชุมภายใต้สาขาการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามีส่วนร่วม โดย Business Forum เป็นเวทีหารือระหว่างภาคเอกชนด้วยกันใน BIMSTEC ส่วน Economic Forum จะเป็นเวทีที่ภาคเอกชนและภาครัฐบาลร่วมหารือกัน และผลการประชุมทั้งสองจะนำรายงานต่อที่ประชุม STEOM ต่อไป
ข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ
ประวัติ
ความร่วมมือภายใต้กรอบ BIMSTEC ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 ภายใต้การริเริ่มและผลักดันของไทยโดยใช้ชื่อว่า Bangladesh-India-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation หรือ BIST-EC ซึ่งในช่วงเริ่มต้นนี้มีสมาชิกเพียง 4 ประเทศ คือ บังคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย และไทย สำหรับ ประเทศพม่าได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในกรอบความร่วมมือนี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 ธันวาคม 2540 และเปลี่ยนชื่อกรอบความร่วมมือเป็น Bangladesh-India-Myanmar-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation หรือ BIMST-EC ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2546 ประเทศเนปาลและภูฎานได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือนี้ ทำให้ในปัจจุบัน ความร่วมมือภายใต้กรอบ BIMSTEC มีสมาชิกรวม 7 ประเทศ คือ บังคลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย พม่า เนปาล และภูฎาน ซึ่งภายหลังจากการประชุมระดับผู้นำกลุ่มประเทศ BIMSTEC หรือ BIMSTEC Summit ครั้งที่ 1 ได้มีมติเปลี่ยนแปลงชื่อกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจนี้ใหม่เป็น Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation หรือ BIMSTEC ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายและสมาชิกของกลุ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 8 ที่ประชุมมีมติประกาศให้วันที่ 6 มิถุนายนของทุกปีเป็นวัน BIMSTEC โดยส่งเสริมให้สมาชิกจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ BIMSTEC ในช่วงเวลาดังกล่าวตามที่เห็นเหมาะสม
[แก้] วัตถุประสงค์
ความร่วมมือภายใต้กรอบ BIMSTEC มีจุดเด่น คือ เป็นเวทีเชื่อมประสานนโยบาย Look East ของกลุ่มประเทศเอเชียใต้ กับนโยบาย Look West ของไทย และเป็นกลไกหนึ่งที่ส่งเสริมโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับภูมิภาคเอเชียใต้ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน และส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และความความช่วยเหลือระหว่างประเทศสมาชิก ในรูปของการฝึกอบรม รวมถึงการค้นคว้าวิจัย และการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อใช้ประโยชน์จากภาคกสิกรรมและอุตสาหกรรม การขยายการค้าและการลงทุน ตลอดจนปรับปรุงการสื่อสารและการคมนาคม เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในภูมิภาค และส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับองค์การระหว่างประเทศ
[แก้] สาขาความร่วมมือของ BIMSTEC
ประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้ตกลงทำความร่วมมือใน 13 สาขาหลัก ได้แก่
สาขาการค้าและการลงทุน (บังกลาเทศเป็นประเทศนำ)
สาขาการคมนาคมและการสื่อสาร (อินเดียเป็นประเทศนำ)
สาขาพลังงาน (พม่าเป็นประเทศนำ)
สาขาการท่องเที่ยว (อินเดียเป็นประเทศนำ)
สาขาเทคโนโลยี (ศรีลังกาเป็นประเทศนำ)
สาขาประมง (ไทยเป็นประเทศนำ)
สาขาเกษตร (พม่าเป็นประเทศนำ)
สาขาสาธารณสุข (ไทยเป็นประเทศนำ)
สาขาการลดความยากจน (เนปาลเป็นประเทศนำ)
สาขาการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ (อินเดียเป็นประเทศนำ)
สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ (อินเดียเป็นประเทศนำ)
สาขาวัฒนธรรม (ภูฏานเป็นประเทศนำ)
สาขาปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน (ไทยเป็นประเทศนำ)
โดยในความร่วมมือในแต่ละสาขาได้แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระดับ คือ
ความร่วมมือสาขาหลัก (Sector) ซึ่งมีประเทศนำ (Lead Country) ในแต่ละสาขาเป็นผู้รับผิดชอบ
ความร่วมมือสาขาย่อย (Sub-Sector) ซึ่งมีประเทศประธาน (Chair Country) เป็นผู้รับผิดชอบ
โครงการ (Project) ซึ่งมีประเทศผู้ประสานงานโครงการ (Coordinating Country) เป็นผู้รับผิดชอบ
[แก้] กลไกการทำงานของ BIMSTEC
โครงสร้างของกลไกการทำงานของ BIMSTEC สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ กลไกการทำงานของภาครัฐและภาคเอกชน โดยกลไกการทำงานของภาครัฐจะแบ่งการดำเนินการเป็น 5 ระดับได้แก่
การประชุมระดับผู้นำ (BIMSTEC Summit) เป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมให้กรอบความร่วมมือมีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองและเป็นการสนับสนุนตามกระบวนการ Top-down เพื่อผลักดันกรอบความร่วมมือ BIMSTEC ในระดับนโยบายของประเทศ โดยการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกเกิดขึ้นที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 ซึ่งการประชุมครั้งที่สองนั้น จะมีขึ้นในวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2551 ที่ประเทศอินเดีย
การประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Meeting) โดยที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ/การค้า พิจารณากำกับดูแลความคืบหน้าของการดำเนินงานในสาขาการค้าและการลงทุน และนโยบายเขตการค้าเสรี ส่วนที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นกลไกด้านกำหนดนโยบายสูงสุดสำหรับการประชุมผู้นำ ทั้งนี้ ในอดีต การประชุมสูงสุดของ BIMSTEC อยู่ในระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น แต่ในการประชุม ครั้งที่ 5 ที่กรุงโคลัมโบ เมื่อเดือนธันวาคม 2545 ได้มีการยกระดับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นครั้งแรก การประชุมระดับรัฐมาตรีครั้งถัดไปจะมีขึ้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 ที่ประเทศอินเดีย
การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการค้าและเศรษฐกิจ (Senior Trade / Economic Official Meeting: STEOM) และด้านต่างประเทศ (Senior Official Meeting: SOM)โดยมีระดับปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ/การค้าและกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน ตามลำดับ ทำหน้าที่พิจารณากรอบการค้าเสรี การดำเนินงานสาขาการค้าและการลงทุน และ15 สาขาย่อย และรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ/การค้า ส่วนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านต่างประเทศ ทำหน้าที่พิจารณาการดำเนินการของสาขาต่างๆ ที่เหลือและของคณะทำงาน และรายงานต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรี
การประชุมคณะทำงาน ที่กรุงเทพฯ (Bangkok Working Group: BWG) เป็นการประชุมร่วมระหว่างอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกประจำประเทศไทยประชุมทุกเดือน ที่กรุงเทพฯ เพื่อติดตามและผลักดันให้การดำเนินงานในสาขาความร่วมมือต่างๆ มีความก้าวหน้า นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาในเรื่องแนวทางและนโยบายของความร่วมมือก่อนเสนอต่อที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส
การประชุมรายสาขาและสาขาย่อย ประเทศนำ (Lead Country) ของความร่วมมือทั้ง 6 สาขาหลักและ 15 สาขาย่อย จะเป็นเจ้าภาพจัดให้มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญสาขาปีละ 1 ครั้ง และรายงานผลการประชุมให้คณะทำงานที่กรุงเทพฯทราบผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตของประเทศนำนั้นๆประจำประเทศไทย เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสพิจารณาต่อไป
ในส่วนกลไกการทำงานของภาคเอกชนนั้น จะมีการจัดการประชุม BUSINESS FORUM ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งจะหมุนเวียนการเป็นเจ้าภาพ และนำเสนอผลการประชุมดังกล่าวต่อที่ประชุม ECONOMIC FORUM ซึ่งเป็นการประชุมร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนี้ภาคเอกชนยังจะต้องมีการจัดการประชุม BIMSTEC Chamber of Commerce & Industry ปีละ 1 ครั้งเช่นกัน
[แก้] ศูนย์บิมสเทค BIMSTEC Center
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ได้เห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์สนับสนุนทางวิชาการ BIMSTEC (BIMSTEC Technical Support Facility: BTSF) หรือ BIMSTEC Center เป็นเวลา 2 ปี เพื่อเป็นกลไกประสานงานกลางในการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือในภาพรวมของ BIMSTEC รวมถึง กิจกรรมของกลุ่มทำงาน BIMSTEC (BIMSTEC Working Group: BWG) และสภาหอการค้า BIMSTEC (BIMSTEC Chamber of Commerce) โดยไทยได้ให้การสนับสนุนจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวเป็นโครงการนำร่อง และจะมีการประเมินผลการดำเนินการและพิจารณารูปแบบการจัดตั้งสำนักเลขาธิการแบบถาวรต่อไป ศูนย์บิมสเทคตั้งอยู่ที่สถาบันยุทธศาสตร์การค้า อาคาร 20 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย
ศูนย์บิมสเทค
สถาบันยุทธศาสตร์การค้า
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84
วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น