"ชเว" คือ ทอง ส่วน "ดากอง" คือชื่อเดิมของเมืองย่างกุ้ง สมัยที่พระเจ้าอลองพญาสถาปนาเมืองเล็กริมฝั่งแม่น้ำแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2298 กล่าวกันว่า "ทอง" แห่งมหาเจดีย์มหาศาลกว่าทองในธนาคารแห่งอังกฤษ ซึ่งน้อยคนปฏิเสธความเป็นไปได้
ประวัติความเป็นมาของมหาเจดีย์องค์สำคัญนี้ ที่มีผู้ค้นคว้าและบันทึกไว้อย่างน่าอ่านก็คือ ข้อมูลจากหนังสือ "พม่า" ในชุด "หน้าต่างสู่โลกกว้าง"
ตามตำนานกว่า 2,500 ปี ของเจดีย์แห่งนี้กล่าวไว้ว่าเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุทั้งแปดเส้นของพระพุทธเจ้า และพระบริโภคเจดีย์ของพระอดีตพระพุทธเจ้าทั้งสามองค์ องค์สถูปหุ้มด้วยทองคำทั้งหมด 8,688 แท่ง แต่ละแท่งมีค่ามากกว่า 400 ยูเอสดอลลาร์ ปลายยอดสถูปประดับด้วยเพชร 5,448 เม็ด ทับทิม นิล และบุษราคัมอีก 2,317 เม็ด มีมรกตเม็ดเขื่องอยู่ตรงกลาง เพื่อรับลำแสงแรกและลำแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ ทั้งหมดนี้ประดับอยู่ด้านบนเหนือฉัตรขนาด 10 เมตร ซึ่งสร้างขึ้นบนไม้หุ้มทองเจ็ดเส้น ประดับด้วยกระดิ่งทองคำ 1,065 ลูก และกระดิ่งเงิน 420 ลูก รอบองค์สถูปรายล้อมไปด้วยสิ่งปลูกสร้างกว่า 100 หลัง มีทั้งสถูปบริวาร วิหารทิศ วิหารราย และศาลาอำนวยการ
เจดีย์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยพวก บะกัน เรื่องอำนาจ พระเจ้าอโนรธา เคยเสด็จประพาสชเวดากองระหว่างการรบพุ่งทางใต้ในศตวรรษที่ 11 พระเจ้าบญาอู แห่งพะโค ก็ทรงบูรณะเจดีย์แห่งนี้ในปี พ.ศ.1925 และ 50 ปีต่อมา พระเจ้าเบียนยาเกียนก็โปรดให้ยกองค์สถูปให้สูงขึ้นไปถึง 90 เมตร
ผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจาก พระเจ้าเบียนยาเกียน คือ พระนางฉิ่นซอปู้ หรือ นางพญาตะละเจ้าท้าว ได้ทรงสร้างลานและกำแพงล้อมรอบองค์สถูป และพระราชทานทองคำเท่าน้ำหนักพระองค์เอง 40 กิโลกรัม ให้นำไปตีเป็นแผ่นทองหุ้มสถูป เป็นแบบอย่างให้กษัตริย์รุ่นหลัง ๆ ทรงประพฤติปฏิบัติตาม ทั้งนี้เพราะพายุลมฝนในช่วงมรสุมนั้นโหมแรง จนทำให้แผ่นทองคำชำรุดหลุดร่วงลงมาอยู่บ่อย ๆ พระเจ้าธรรมเซดี ผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระนางก็ได้ทรงบริจาคทองคำหนักเป็นสี่เท่าของน้ำหนักพระองค์เอง เพื่อบูรณะซ่อมแซมพระเจดีย์
ในปี พ.ศ.2028 พระเจ้าธรรมเซดีทรงสร้างศิลาจารึกสามหลังเอาไว้บนบันไดด้านตะวันออกของเจดีย์ชเวดากอง บอกเล่าประวัติของเจดีย์เป็นภาษามอญ พม่า และบาลี จารึกนั้นยังคงมีให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้
เจดีย์ชเวดากองตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษนานถึง 77 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2395-2472 แต่ชาวพม่าก็ยังสามารถเข้ามาสักการะเจดีย์ได้
ในปี พ.ศ.2414 พระเจ้ามินดง แห่งมัณฑะเลย์ ทรงส่งฉัตรฝังเพชรอันใหม่มาถวายเป็นพุทธบูชา มีการจัดงานฉลองและมีชาวพม่ากว่าแสนคนมาเที่ยวชมงาน พระองค์จึงทรงถือโอกาสนี้ปรารถนาเรื่องเอกราชของพม่า สร้างความไม่พอใจให้กับอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่อาจทำอะไรได้
ช่วงศตวรรษที่ 20 มีภิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นกับพม่าหลายครั้ง โดยเริ่มจากปี พ.ศ.2473 เกิดแผ่นดินไหวขึ้น แต่ก็สร้างความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในปี พ.ศ.2474 เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่จากฐานบันไดทางทิศตะวันตก ลุกลามต่อไปยังปีกด้านเหนือ ดชคดีที่ดับไฟได้เสียก่อน แต่ก็ได้เผาผลาญศาสนสถานสำคัญไปไม่น้อย ในปีพ.ศ.2513 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง นับเป็นภัยแผ่นดินไหวครั้งที่ 9 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ส่งผลให้ทางภาครัฐต้องจัดทำโครงพิเศษเพื่อเสริมยอดเจดีย์ให้แข็งแรงขึ้น
เมื่อใดก็ตามที่เจดีย์แห่งนี้ชำรุดเสียหายก็จะได้รับการบูรณะให้งดงามรุ่งโรจน์ยิ่งกว่าเดิม
เจดีย์ชเวดากองสัญลักษณ์ของประเทศพม่าตั้งแยู่บนเนินเขาเชียงกุตตระ สามารถมองเห็นได้จากทุกมุมเมือง เพราะสูงเด่นเป็นสง่า ข้อสำคัญไม่มีตึกหรืออาคารสูงมาตั้งบดบังได้
นอกจากสถูปทองที่ส่องอร่ามไปทั่วแล้ว ยังมีองค์ประกอบโดยรวมอีก ตั้งแต่ประตูทางขึ้นสู่บันไดทั้ง 4 ทิศที่ใหญ่โตมโหฬาร ตัวหลังคาระเบียงวัดที่ทอดขึ้นสู่ฐานขององค์เจดีย์ก็มีลวดลายสลักเสลาเหมือนปราสาทลดหลั่นกันเป็นชั้น ๆ
เจดีย์ชเวดากองเปิดให้ชมทุกวันตั้งแต่เวลา 04.00-21.00 น. การเปิดให้เข้าชมเป็นช้าวงเวลายาวขนาดนี้ ก็เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาสามารถเข้าไปก่อนอรุณรุ่งและกลับออกมาหลังตะวันยอแสง จะได้มีเวลาชมเต็มที่
บริเวณโดยรอบของทางเข้าทางทิศใต้ ซึ่งเป็นทางขึ้นสู่เจดีย์ชเวดากองที่ผู้คนนิยมใช้กัน มีบันไดทั้งหมด 104 ขั้น ทอดขึ้นสู่บริเวณลานของเจดีย์
ตามสองข้างทางบันได เต็มไปด้วยร้านค้าที่ได้รับอนุญาตจากทางวัดให้เข้ามาตั้งแผงขายของให้กับผู้คนที่มาสักการะบูชาด้วยความเลื่อมใส สินค้าส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการทำบุญและก็มีสินค้าที่ระลึกวางขายด้วย
หน้าบริเวณทางเข้ามีรูปปั้นสัตว์ในตำนวนปรัมปราสองตัวทำหน้าที่เป็นทวารบาลคือ ชินเต้ หรือสัตว์ครึ่งสิงโตครึ่งนก เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สีหปักษีทวารบาล และ ยักษ์ทวารบาล
รายรอบด้วยเจดีย์องค์เล็กองค์น้อย ผู้คนจำนวนมากยังเดินทางมาที่นี่เพื่อกราบไหว้ สักการะ สรงน้ำองค์ปฏิมา และทำทักษิณาวัตร ไม่ใช่เฉพาะคนแก่คนเฒ่า แต่ทั้งเด็กเล็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ทั้งชายและหญิง พากันมาน้อมใจสู่พระรัตนตรัยที่นี่
นอกจากจะมีทวารบาลที่หน้าประตูแล้ว ยังมีเหล่าเด็ก ๆ ชาวพม่าวิ่งท้วงติงผู้ที่ใส่รองเท้าเข้ามาบริเวณวัด ให้ถอดรองเท้าถุงเท้า แล้วให้ซื้อถุงก๊อบแก๊บใส่รองเท้าถือเข้าวัดไปด้วย
วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น