วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2552

ผักสวนครัว วววว




ผักเป็นอาหารประจำวันของมนุษย์ เป็นแหล่งอาหารให้แร่ธาตุวิตามินที่มีคุณค่าทางอาหารสูง มีราคาถูก เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อสัตว์จากข้อมูลวิจัยกล่าวว่า มนุษย์เราควรบริโภคผักวันละประมาณ 200 กรัม เพื่อให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุและวิตามินอย่างเพียงพอ
ผลการวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักแห่งเอเชีย ชี้ให้เห็นว่าประชากรของประเทศไทย โดยเฉพาะ สตรีมีครรภ์และพวกเด็กๆ มักขาดแคลนแร่ธาตุวิตามินกันมาก ประกอบกับปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบ ทำให้มีค่าครองชีพสูงขึ้น ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้มีการรณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเองในครอบครัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีพืชผักเพียงพอแก่การบริโภคในครัวเรือน ทำให้ได้รับสารอาหารครบตามความต้องการของร่างกาย และช่วยลดภาวะค่าครองชีพ
ข้อควรพิจารณาก่อนปลูกผักสวนครัว
การปลูกผักสวนครัวต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
1. การเลือกสถานที่หรือทำเลปลูก ควรเลือกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด อยู่ใกล้แหล่งน้ำและไม่ไกลจากที่พักอาศัยมากนักเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานด้านการปลูก การดูแลรักษาและสะดวกในการเก็บมาประกอบอาหารได้ทันทีตามความต้องการ
2. การเลือกประเภทผักสำหรับปลูก ชนิดของผักที่จะปลูกควรคำนึงถึงการใช้เนื้อที่ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด โดยการปลูกผักมากชนิดที่สุดเพื่อจะได้มีผักไว้บริโภคหลายๆ อย่าง ควรเลือกชนิดของผักที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและปลูกให้ตรงกับฤดูกาล ทั้งนี้ควรพิจารณาเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดพันธุ์ วันเสื่อมอายุ ปริมาณหรือน้ำหนัก โดยดูจากสลากข้างกระป๋องหรือซองที่บรรจุเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าเมล็ดพันธุ์นั้นใหม่หรือเสื่อมความงอกแล้ว เวลา วันที่ผลิตถึงวันที่จะซื้อ ถ้ายิ่งนานคุณภาพเมล็ดพันธุ์จะลดลง
การเลือกทำเลการปลูกผัก
1. ที่ตั้งของสถานที่ปลูก ในการปลูกผักหรือพืช จำเป็นต้องมีดินหรือวัสดุให้ต้นพืชยึดเกาะรวมทั้งเป็น แหล่งน้ำ แหล่งธาตุอาหารที่จำเป็นในการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งพิจารณาจากลักษณะของพื้นที่คือ
1.1 มีพื้นที่เป็นพื้นดินในบริเวณบ้าน อาจจะเป็นแหล่งน้ำหรือพื้นที่ปลูกบริเวณบ้าน เป็นสภาพพื้นที่ที่ปลูกผักได้หลากชนิดตามความต้องการ
1.2 ไม่มีพื้นดินในบริเวณบ้าน ผักสวนครัวบางชนิดการจะปลูกได้ จำเป็นต้องปลูกในภาชนะใส่ดินปลูก อาจจะวางบนพื้นหรือแขวนเป็นผักสวนครัวลอยฟ้า
2. สภาพแสงและร่มเงา นับว่ามีความจำเป็นในขบวนการสังเคราะห์แสงของพืชเพื่อสร้างอาหาร ปริมาณแสงที่ได้รับในพื้นที่ปลูกแต่ละวันนั้นจะมีผลต่อชนิดของผักที่ปลูก โดยทั่วไปแล้วอาจแบ่งความต้องการแสง ในการปลูกผัก ดังนี้
2.1 สภาพที่ไม่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ควรปลูกพืชผักที่สามารถเจริญเติบโตในร่มได้ เช่น ต้นชะพลู สะระแหน่ ตะไคร้ โหระพา ขิง ข่า และกะเพรา เป็นต้น
2.2 สภาพที่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ควรเลือกปลูกผักที่สามารถเจริญเติบโตได้ในแสงปกติ เช่น ถั่วฝักยาว คะน้า ผักกาดเขียว กวางตุ้ง พริกต่างๆ ยกเว้น พริกขี้หนูสวน

ไม่มีความคิดเห็น: