วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2552

ORCHID












เอื้องฟ้ามุ่ย (Vanda ceorulea) เป็นพืชในวงศ์กล้วยไม้สกุลแวนด้า มีดอกสีฟ้า สีขาว สีชมพูอ่อน ฟ้ามุ่ยถูกขึ้นบัญชี 1ตามอนุสัญญาไซเตสตั้งแต่ปี 2522 ถือเป็นพืชป่าห้ามซื้อขาย ยกเว้นเพื่อศึกษาและวิจัย แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้สามารถผสมเทียมฟ้ามุ่ยลูกผสมขายได้นานแล้ว ต้นฟ้ามุ่ยป่าจึงไม่ควรจัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อีกต่อไป ต่อมาไทยได้เสนอให้ลดบัญชีกล้วยไม้ป่าฟ้ามุ่ย จากบัญชี 1 เป็นบัญชี 2
ลักษณะ : รากขนาดใหญ่มาก ลำต้นยาว ใบรูปแถบ ขนาด 3x10 ซม. ปลายใบหยักหนามช่อดอกทอดเอียง ก้านช่อยาวกว่าแกนช่อ ดอกขนาด 4.5 ซม.กลีบเลี้ยงรูปรีกว้างแถมรูปไข่กลับ กลีบดอกรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ทั้งห้ากลีบสีฟ้า มีลายคล้ายลายหินอ่อน(ลายมุก) ปลายกลีบมน ขอบกลีบบิดเป็นคลื่น กลีบปากรูปแถบ อวบและหนา สีฟ้าเข้ม ปลายกีบเว้าตื้น แผ่นกลีบมีสันเตี้ย ๆ 3 สัน มีเดือยดอกขนาดใหญ่รูปกรวย เส้าเกสรอ้วนสั้น
เขตกระจายพันธุ์ : พบในอินเดีย พม่า จีน และไทย โดยเฉพาะบริเวณ จ.ตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ ถิ่นอาศัย กล้วยไม้อิงอาศัย พบในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ตามที่โล่งแจ้งแสงแดดจัด
ฤดูออกดอก : กรกฎาคมถึงธันวาคม
สถานภาพ : ปลูกเลี้ยงอย่างแพร่หลาย มีการปรับปรุงพันธุ์เพื่อประโยชน์ทางการค้า ในธรรมชาติมีจำนวนค่อนข้างน้อย พบเพียงบางพื้นที่ และใกล้สูญพันธุ์


กล้วยไม้ป่าไทยพบได้ทั่วไปในแหล่งธรรมชาติ จากการสำรวจล่าสุดพบว่ามีถึง 168 สกุล รวม 1,170 ชนิด กระจายอยู่ในป่าเขตร้อนทั่วทุกภาค ก่อให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมอย่างสูง ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยเราจึงกลายเป็นตลาดกล้วยไม้ที่สำคัญของเอเชียและของโลก จนกลายเป็นพืชส่งออกที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ นำเงินตราเข้าประเทศปีละมากกว่า 1,000 ล้านบาท
กล้วยไม้ป่าไทย เป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งในด้านสี ความมันวาวของกลีบดอก ทรงดอก และที่สำคัญคือ กลิ่นที่มีความหอมละมุน ที่สำคัญมีลักษณะการบานทนมาก บางพันธุ์ดอกบานนานเป็นเดือน เช่น เอื้องผึ้ง บางพันธุ์ออกดอกตลอดทั้งปี เช่น เขากวางอ่อน จึงเป็นที่ต้องการของตลาดในและต่างประเทศอย่างมาก
ปัญหาที่ประสบในปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หลาย ๆ สกุล โดยเฉพาะ ฟ้ามุ่ย อันเนื่องมาจากการลักลอบขโมยกล้วยไม้จากป่าธรรมชาติ แม้จะมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ และมีข่าวการจับกุมผู้ลักลอบโจรกรรมกล้วยไม้ออกจากป่าค่อนข้างบ่อยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

แต่เท่าที่ทราบจากแหล่งข่าวในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ยังคงมีนายทุนใช้อำนาจเงินตราสั่งให้คนทองถิ่นเข้าไปขุดกล้วยไม้ป่าพันธุ์หายาก ปัญหานี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 40-50 ปีก่อนแล้ว ปัจจุบันก็ยังแก้ไขไม่ได้จากสถิติการจับกุมผู้ลักลอบค้ากล้วยไม้ป่า ของสำนักงานป้องกันและปราบปราม กรมป่าไม้ พบว่า ตั้งแต่ปี 2540-2545 สามารถยึดพืชป่าสงวนได้ถึง 309,695 ต้น โดยเฉพาะในปี 2545 มีจำนวนมากถึง 120,000 ต้น อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา สถิติการจับกุมพืชป่าลดลง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้และตำรวจกวดขันอย่างหนัก แต่ผมมองว่า สถิติการจับกุมที่น้อยลงอาจเป็นเพราะมีกล้วยไม้ป่าหลงเหลืออยู่อีกไม่มากนักมากกว่า

แวนด้าลูกผสม ฟอร์มดอกใหญ่และสีสดมาก ที่จะหาง่าย ๆ เหมือนเมื่อก่อนก็คงไม่มีหวังแล้ว บางทีเดินป่าเป็นวันก็ไม่เห็นกล้วยไม้ป่าก็มี น่าเศร้าใจจริง ๆ เมื่อกล้วยไม้ป่าในประเทศกำลังใกล้หมดป่า ก็มีสินค้าใหม่มาขายจากป่าในประเทศลาวและพม่า โดยแหล่งซื้อขายใหญ่มีทั้งหมด 3 แห่ง คือ ด่านแม่สอดชายแดน จ.ตาก ด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี และด่านสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี (ฆาตกรรมกล้วยไม้ป่าในประเทศยังไม่หนำใจ ยังไปฆ่าตัดตอนกล้วยไม้ป่าประเทศเพื่อนบ้านอีก ) สำหรับมือสมัครเล่นที่เลี้ยงกล้วยไม้มา 15 ปีอย่างผม มองเห็นปัญหานี้มาตลอด สาเหตุที่คนซื้อกล้วยไม้ป่าก็เพราะราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่ากำลังทำผิดกฎหมาย ทำลายทรัพยากรธรรมชาติอันทรงคุณค่า อีกทั้งกล้วยไม้ป่าที่นำมาเลี้ยงก็บอบช้ำจากการขนส่งเต็มที หลาย ๆ ต้นต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะฟื้นตัว ใช้เวลาหลายปีกว่าจะออกดอก แถมบางต้นต้องตายไปเพราะไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ
หากเจ้าหน้าที่จับกุมได้ก็ส่งไปไว้ที่เก็บพืชป่าของกลาง ปลูกได้ไม่นานก็ตายเหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น: