วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เหรียญทองแรก โอลิมปิก จากยกน้ำหนัก


"เก๋" สาวเมืองปากน้ำโพ โชว์ลีลาทุบสถิติยกลูกเหล็กโอลิมปิก มาแล้วสำหรับเหรียญทอง ของการรอคอยสำหรับทัพนักกีฬาไทย ในปักกิ่งเกมส์ ตลอดสามวันที่ผ่านมา กีฬายกน้ำหนัก ก็ทำสำเร็จ ประเดิมเหรียญทองแรกให้ทัพนักกีฬาไทย
“น้องเก๋” ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล จอมพลังสาวไทย รุ่น 53 กิโลกรัม คว้าเหรียญทองแรกให้กับทัพนักกีฬาไทยในโอลิมปิกเกมส์ได้สำเร็จ
การแข่งขันยกน้ำหนักหญิง รุ่น 53 กิโลกรัม ในโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงปักกิ่ง “น้องเก๋” ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล จอมพลังสาวไทยจากนครสวรรค์ คว้าเหรียญทองแรกให้กับทัพนักกีฬาไทยได้สำเร็จ หลังจากทำสถิติรวมได้ 231 พร้อมกับทำลายสถิติโอลิมปิกเกมส์ โดยท่าสแนทซ์ ยกได้ 95 กิโลกรัม และ โดยท่าคลีนแอนด์เจิร์ทยกได้ 126 กิโลกรัม พร้อมกับทำลายสถิติโลกที่ 125 กิโลกรัม ซึ่งเฉือนเอาชนะ ยูน จินฮี จากเกาหลีใต้ ที่ได้เหรียญเงิน 20 กิโลกรัม และเหรียญทองแดงนาสตัสเซีย โนวิคาวา จากเบลารุส.
ที่มา - สำนักข่าวไทย
“น้องเก๋” ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล หรือชื่อเดิม คือ จันทร์พิมพ์ กันทะเตียน เกิดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2527 เป็นบุตรสาวคนโตในจำนวนพี่น้อง 4 คน ของ นายจันทร์แก้ว และ นางภาวลี ในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งพื้นฐานแล้วครอบครัวมีฐานะยากจน โดย นายจันทร์แก้ว นั้นยึดอาชีพเป็นกรรมกรก่อสร้างมานาน ทว่า หลังจากที่ เก๋ เมื่อวัย 11 ปี มุ่งหน้าเข้าสู่การฝึกซ้อมกีฬายกน้ำหนักอย่างจริงจัง ทำให้ฐานะครอบครัวแต่เดิมที่เคยลำบากนั้นเริ่มดีขึ้น โดยเด็กสาวรายนี้ถือเป็นกำลังหลักของครอบครัว ซึ่งจากน้ำพักน้ำแรงของจอมพลังสาววัย 24 ปี รายนี้ ปัจจุบัน คุณพ่อจันทร์แก้ว ไม่จำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพกรรมกรอีกแล้ว โดยหันไปยึดอาชีพขายไอศกรีมทอดแทน นอกจากนี้ “น้องเก๋” ยังเก็บหอมรอมริบเงินรางวัลจากการแข่งขันเพื่อนำเงินมาปลูกบ้านให้กับพ่อแม่ที่จังหวัดนครสวรรค์ได้อีกด้วย แม้ว่าจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม ชีวิตคนเราย่อมมีขึ้นลง ซึ่ง “น้องเก๋” เองก็หลีกหนีวัฏจักรนี้ไปไม่พ้น เมื่อในชีวิตนักกีฬาต้องเสียน้ำตาถึง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งในครั้งนั้นจอมพลังสาวจากเมืองปากน้ำโพ ถือเป็นนักกีฬาดาวรุ่งอยู่ อีกทั้งยังลงแข่งขันในรุ่นเดียวกับ “น้องอรสู้โว้ย” อุดมพร พลศักดิ์ อีก ส่งผลให้สมาคมยกเหล็กตัด ประภาวดี ออกจากทีมชุดลุยโอลิมปิก ส่งผลให้นักยกเหล็กรายนี้เสียศูนย์จนหอบเสื้อผ้าหนีจากค่ายซ้อมไปพักใหญ่ๆ ก่อนที่ “เจ๊บุษ” บุษบา ยอดบางเตย นายกสมาคมยกเหล็กจะตามตัวกลับมา พร้อมปลุกปลอบให้กลับมาร่วมแคมป์ซ้อมทีมชาติไทยอีกครั้ง หลังจากนั้น ประภาวดี ก็กลับมาเป็นคนเดิม ตั้งใจฝึกซ้อม เพื่อโอกาสในการคว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2008 ทว่าโชคร้ายของจอมพลังรายนี้ยังไม่จบ เมื่อต้องประสบปัญหาอาการบาดเจ็บข้อศอกหลุดระหว่างการแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก 2007 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งส่งผลให้ “น้องเก๋” ต้องชวดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2007 ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งก่อนหน้านั้น มีความหวั่นเกรงว่าอาการบาดเจ็บขนาดนั้นอาจทำให้จอมพลังรายนี้ต้องจบชีวิตนักกีฬาทีมชาติ แม้จะไม่ได้เดินทางร่วมทีมไปโคราชเกมส์ ทว่า ระหว่างนั้น “เก๋” ประภาวดี ก็หมั่นฝึกซ้อมและเรียกความฟิตอยู่เสมอ ซึ่งนับเป็นผลดีกับสภาพร่างกาย รวมทั้งความมุ่งมั่นที่มีมาก อีกทั้งสภาพจิตใจที่เยือกเย็นขึ้น ทำให้จอมพลังสาวเมืองปากน้ำโพก้าวมาถึงวันที่ประสบความสำเร็จสูงสุดด้วยการคว้าเหรียญทองปักกิ่งเกมส์ พร้อมสร้างสถิติโอลิมปิกในท่าคลีนแอนด์เจิร์กขึ้นมาใหม่ที่ 126 กิโลกรัมอีกด้วย

สำหรับผลงานของ ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล
1 เหรียญทอง ซีเกมส์ 2005 ที่ฟิลิปปินส์
1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน ยกน้ำหนักชิงแชมป์โลกที่กาตาร์
1 เหรียญเงิน เอเชียนเกมส์ ที่กาตาร์
1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน ยกน้ำหนักชิงแชมป์เอเชีย ที่ประเทศจีน
1 เหรียญทอง โอลิมปิก 2008 ที่ประเทศจีน

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สวัสดี chery : เกมส์ยกน้ำหนัก : บริหารกล้ามนิ้วกัน