วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

เขาใหญ่

ประวัติอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่



ป่าดงพญาไฟ หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่าป่าดงพญาเย็น คืออดีตกาลของผืนป่าดงดิบ อันกว้างใหญ่ที่ทอดตัวขวางกั้นระหว่างที่ราบสูงแผ่นดินอีสานและพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ปัจจุบันเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในนามของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งในอดีตมักถูกยกให้เป็นเรื่องเล่าขานถึงความเถื่อนและอันตรายทั้งจากความดิบชื้นของป่า สัตว์ป่าดุร้าย ไข้ป่าและความเชื่อต่างๆ ที่เสริมสร้างให้ภาพลักษณ์ของป่าดงพญาเย็น กลายเป็นตำนานของผืนป่าที่น่ากลัวและอันตรายของทุกผู้คนที่รอนแรมเดินทาง

ในอดีต การเดินทางไปมาหาสู่เพื่อค้าขายระหว่างผู้คนสองฝั่งป่า ต้องเดินทางผ่านป่าดงพญาเย็น ขบวนนายฮ้อยต้อนควายจากภาคอีสานมาขายยังที่ลุ่มภาคกลางหรือขบวนสินค้าจากภาคกลางสู่ตลาดทางอีสานต้องผ่านผืนป่าแห่งนี้ทั้งสิ้น ระหว่างการเดินทางข้ามป่าแห่งนี้ต้องมีการพักแรมระหว่างทางเป็นระยะๆจนกว่าจะหลุดพ้นป่าแห่งนี้ไปยังอีกฝั่งหนึ่ง

จากจุดพักแรมต่างๆในป่าดงพญาเย็นก็ค่อยๆเป็นกลายเป็นชุมชนเล็กๆกลางผืนป่า มีผู้ คนปักหลักทำมาหากินจนกระทั่งถูกยกฐานะขึ้นเป็นตำบลเขาใหญ่ ขึ้นอยู่กับอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก แต่แม้จะถูกยกฐานะขึ้นเป็นตำบลเขาใหญ่ แต่สภาพก็ยังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนเหมือนเดิม เป็นที่ส้องสุมของโจรผู้ร้ายและบรรดาคนนอกกฎหมายทั้งหลาย การปราบปรามของทางราชการเป็นไปอย่างยากลำบาก

ต่อมารัฐบาลในสมัยนั้นจึงได้ยุบตำบลเขาใหญ่และอพยพราษฎรทั้งหมดลงมายังที่ราบเบื้องล่าง “เวลาเราขึ้นไปบนเขาใหญ่ หรือเดินป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เรามักจะพบทุ่งหญ้าคากลางป่านั้น ทุ่งหญ้าเหล่านั้น ก็คือพื้นที่ทำกินของชาวบ้านตำบลเขาใหญ่ในอดีตนั่นเอง”

ต่อมาในปี 2502 สมัยของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ไปตรวจราชการทางภาคเหนือและเห็นว่าผืนป่าแห่งนี้มีสภาพธรรมชาติอันสมบูรณ์ จึงได้บัญชาให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรร่วมมือและประสานงานกันจัดตั้งระบบอุทยานแห่งชาติขึ้น มีนิยมไพรสมาคม โดยนายแพทย์ บุญส่ง เลขะกุล เป็นผู้มีส่วนช่วยผลักดันให้มีการออก พ.รบ.อุทยานแห่งชาติขึ้น และต่อมาในปี 2505 ก็มีประกาศให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเป็นแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมทั้งอุทยานแห่งชาติอื่นๆอีก 14 แห่ง

…………..ชื่อป่าดงพญาไฟ จึงกลายเป็นตำนานของป่าเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553

ดอยอินทนนท์

แต่เดิมดอยอินทนนท์มีชื่อว่า “ดอยหลวง” หรือ “ดอยอ่างกา” คำว่าดอยหลวงหมายถึง ภูเขาที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เรียกว่าดอยอ่างกานั้น มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตก 300 เมตร มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่างน้ำ แต่ก่อนนี้มีฝูงกาไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่า อ่างกา ต่อมาจึงรวมเรียกว่า “ดอยอ่างกา” เมื่อครั้งที่ป่าไม้ทางภาคเหนือยังอยู่ในความควบคุมของเจ้าผู้ครอบครองนครต่างๆ นั้นในสมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระองค์เป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของป่าไม้เป็นอันมาก โดยเฉพาะ“ดอยหลวง” พระองค์มีความหวงแหนเป็นพิเศษ ขณะที่ยังมีพระชนม์อยู่ได้สั่งไว้ว่าหากสิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ขอให้แบ่งเอาอัฐิส่วนหนึ่งไปบรรจุไว้ บนยอดดอยหลวงด้วย ต่อมา คำว่าดอยหลวงก็ถูกเปลี่ยนเป็น “ดอยอินทนนท์” ตามพระนามของเจ้าผู้ครองนครนั้น และเมื่อขึ้นไปบนยอดเขาสูงนี้ จะเห็นสถูปบรรจุพระอัฐิของพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ประดิษฐานอยู่ป่าดอยอินทนนท์แห่งนี้เป็นป่า 1 ใน 14 แห่ง ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ต่อมาได้มีกฎกระทรวงฉบับที่ 103 (พ.ศ.2502) ออกตามความพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ. 2481 ให้ป่าดอยอินทนนท์ในท้องที่ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2508 กองบำรุง กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 119/2508 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2508 (ขณะนั้นเป็นหมวดอุทยานแห่งชาติ สังกัดกองบำรุง) ให้นายนิพนธ์ บุญทารมณ์ นักวิชาการป่าไม้ตรี ไปทำการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้น และเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2515 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายปรีดา กรรณสูต) ได้มีบัญชาให้นายอุดม ธนัญชยานนท์ นักวิชาการป่าไม้โท ทำการสำรวจทางเฮลิคอปเตอร์เพื่อจัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติตามมติคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2515 ปรากฏว่าป่าดอยอินทนนท์มีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีสภาพทิวทัศน์และเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม และเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด เหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติประกอบกับศูนย์อำนวยการร่วม ฝ่ายรักษาความมั่นคงแห่งชาติได้มีหนังสือที่ กห0312/4757 ลงวันที่ 12 เมษายน 2515 เสนอหัวหน้าคณะปฏิวัติ (จอมพลถนอม กิตติขจร)ให้กำหนดป่าดอยอินทนนท์เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และสภาบริหารคณะปฏิวัติได้มีมติเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2515 อนุมัติหลักการให้ดำเนินการได้
กรมป่าไม้จึงดำเนินการจัดตั้งบริเวณที่ดินป่าดอยอินทนนท์ในท้องที่ตำบลบ้านหลวง ตำบลสบเตี้ย ตำบลสองแคว ตำบลยางคราม อำเภอจอมทอง ตำบลแม่วินอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 168,750 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 223 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2515 ลงในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 89ตอนที่ 148 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2515 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 6 ของประเทศ

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จที่บริเวณดอยขุนกลาง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้พิจารณาดำเนินการขยายอาณาเขตของอุทยานแห่งชาติ ออกไปคลุมถึงบริเวณพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารเพิ่มขึ้นอีก กรมป่าไม้ได้ทำการตรวจสอบและสำรวจเพิ่มเติม ปรากฏว่าตามที่กำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติระบุท้องที่ตำบลแม่ศึก ซึ่งมิได้อยู่ในแนวเขตอุทยานฯ และมิได้ระบุท้องที่ตำบลช้างเคิ่งและตำบลท่าผา ซึ่งอยู่ในแนวเขตอุทยานไว้ในแนวเขตอุทยานดังกล่าว ประกอบกับทางราชการกองทัพอากาศประสงค์ที่จะกันพื้นที่บางส่วนเพื่อก่อสร้างสถานีเรดาร์ เพื่อใช้ในราชการกองทัพอากาศ เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 37 ตารางวา และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ดำเนินการได้ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสงค์ที่จะปรับปรุงขยายแนวเขตอุทยานแห่งชาติออกไป โดยกำหนดป่าสงวนแห่งชาติอินทนนท์ ป่าสงวนแห่งชาติป่าจอมทอง และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติครั้งที่ 1/2518 เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2518 ได้มีมติเห็นชอบ กองอุทยานแห่งชาติกรมป่าไม้ จึงดำเนินการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 3 ป่าจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกำหนดบริเวณป่าดอยอินทนนท์ ในท้องที่ตำบลแม่นาจร ตำบลช้างเคิ่ง ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม ตำบลแม่วิน ตำบลทุ่งปี้ อำเภอสันป่าตองและตำบลสองแคว ตำบลยางคราม ตำบลบ้านหลวง ตำบลสบเตี้ย อำเภอจอมทองจังหวัดเชียงใหม่ เป็นอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2521 ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 95 ตอนที่ 62 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2521 รวมเนื้อที่ 301,500 ไร่ โดยให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 223 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2515

ดอยตุง

เป็นปฐมเจดีย์แห่งล้านนาไทย ซึ่งได้ประดิษฐานอยู่บนยอดดอยสูง บนเทือกเขานางนอนที่มีความสูง 2,000 เมตร ในเขตตำบลห้วยไคร้ กิ่งอำเภอแม่ฟ้าหลวง เป็นปูชนียสถานที่สำคัญมีประชาชนเลื่อมใสมาแต่โบราณกาล เพราะเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถอำนวยความร่มเย็นมาสู่บรรดาผู้ที่ขึ้นไปนมัสการกราบไหว้เมื่อถึงเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุงจะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ใกล้เคียง เช่น ชาวเชียงตุง ก็ได้เดินทางเข้ามานมัสการอย่างมากมาย




พระธาตุดอยตุง ตามตำนานพงศาวดารโยนก กล่าวไว้ว่าในสมัยพระเจ้าอชุตราช รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์ของพระเจ้าสิงหนวัติ ผู้ครองแว่นแคว้นโยนกนาคนครได้ขึ้นครองราชสมบัติได้ 3 ปี ถึงปีมะแม พุทธศักราช 1454 พระมหากัสสปเถระได้นำพระรากขวัญเบื้องซ้าย ( กระดูกไหปลาร้า ) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากมัธยมประเทศมาถวาย นับเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาลักธิกาวงศ์ได้ขึ้นมาประดิษฐานที่อาณาจักรโยนกนครแห่งนี้ พระมหากัสสปเถระได้ทูลต่อพระเจ้าอชุตราช ถึงเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงทำนายไว้แต่กาลก่อนนั้นว่าเมื่อครั้งพระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ได้เสด็จจากเมืองกบิลพัสดุ์มาสู่แคว้นโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัตินครมีต่ออีกในสมุดทุกวันนี้ ซึ่งเป็นที่อาศัยของพวกลาวจกและได้ทรงพยากรณ์ว่า ณ สถานที่ดอยดินแดนแห่งนี้ จะได้เป็นที่ประดิษฐานพระมหาสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในภายภาคหน้า

ครั้งพระเจ้าอชุตราชได้ทรงทราบดังนั้น ก็บังเกิดศรัทธาชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง จึงรับสั่งให้หัวหน้าลาวจกมาเฝ้าแล้วพระราชทานทองคำแสนกษาปณ์เป็นค่าที่ดินบริเวณดอยดินแดง แล้วพระองค์ก็ทรงสร้างพระสถูปสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุให้เป็นที่สักการบูชา โดยกำหนดเขตแดนแต่องค์พระสถูปออกไปด้านละ 3,000 วา

เมื่อก่อนจะสร้างพระมหาสถูปนั้นได้โปรด ฯ ให้ทำธงตะขาบหรือตุงปรากฎให้ใหญ่และยาวถึงพันวา ปักเองไว้บนยอดดอยนั้น ถ้าหากธง ( ภาษาพื้นเมือง เรียกว่า ตุง ) ปลิวไปไกลถึงเพียงไหนให้กำหนดหมายเป็นฐานของพระมหาสถูปเพียงนั้น แล้วด้วยเหตุนี้จึงปรากฎนามว่า ดอยตุง จนบัดนี้

“ช้างมูบ” เป็นชื่อดอยที่สูงที่สุดของเทือกเขานางนอนในโครงการพัฒนาดอยตุง

ีประวัติดอยช้างมูบ (ดอยดินแดนแห่งผู้กล้า) มีดังนี้

ราวปีพ.ศ.1640 กองทัพพระยาขอมดำเข้าตีเมืองโยนกนาคพันธุ์ราชธานีของไทยจนเมืองแตก ชนชาติไทยต้องตกเป็นเมืองขึ้นของชนชาติขอม ต่อมาราวปีพ.ศ.1656 พระเจ้าพรหมกุมาร พระโอรสของพระเจ้าพังคราช ได้ยกกองทัพเข้าโจมตีชนชาติขอมจนพ่าย ขับไล่ชนชาติของไปจนถึงเมืองสวรรคโลก กำแพงเพชร ทรงสร้างนครไชยปราการเป็นราชธานี แทนโยนก ขยายไปทางทิศตะวันตกถึงเมืองสะเทิม (ชนชาติมอญในพม่า) ทิศเหนือถึงเมืองเชียงตุง เมืองแสนหวี (พม่า) รวมถึง 12 ปันนา (จีน) หลวงพระบาง (ลาว) เมืองแกวประกัน (เวียดนาม) หลังจากการเสร็จศึกสงครามทุกครั้ง พระพรหมมหาราชจะประทับอยู่ นครชัยปราการ ราวปีพ.ศ.1679 พระเจ้าพรหมมหาราช ทรงคิดถึงพระบิดา ได้เสด็จไปเยี่ยมพระบิดา เมืองชัยบุรี (โยนกเดิม) ก่อนเสด็จกลับไชยปราการได้เสด็จผ่านเมือง เวียงสี่ตวง (อ.แม่สาย) เมื่อสักการะพระบรมสารีริกธาตุดอยดินแดน (ดอยตุง) หลังจากนั้นได้เสด็จต่อจนถึงเทือกเขาเทือกหนึ่ง ช้างพระที่นั่งเกิดอาการอ่อนล้าหมดแรงและได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ดอยนั้นจึงชื่อว่า "ดอยจ้างหอบ" หรือ "ดอยจ้างหมอบ" ต่อมา เรียกเป็น "ดอยช้างมูบ" จนถึงปัจจุบัน