วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553

ดอยอินทนนท์

แต่เดิมดอยอินทนนท์มีชื่อว่า “ดอยหลวง” หรือ “ดอยอ่างกา” คำว่าดอยหลวงหมายถึง ภูเขาที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เรียกว่าดอยอ่างกานั้น มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตก 300 เมตร มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่างน้ำ แต่ก่อนนี้มีฝูงกาไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่า อ่างกา ต่อมาจึงรวมเรียกว่า “ดอยอ่างกา” เมื่อครั้งที่ป่าไม้ทางภาคเหนือยังอยู่ในความควบคุมของเจ้าผู้ครอบครองนครต่างๆ นั้นในสมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระองค์เป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของป่าไม้เป็นอันมาก โดยเฉพาะ“ดอยหลวง” พระองค์มีความหวงแหนเป็นพิเศษ ขณะที่ยังมีพระชนม์อยู่ได้สั่งไว้ว่าหากสิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ขอให้แบ่งเอาอัฐิส่วนหนึ่งไปบรรจุไว้ บนยอดดอยหลวงด้วย ต่อมา คำว่าดอยหลวงก็ถูกเปลี่ยนเป็น “ดอยอินทนนท์” ตามพระนามของเจ้าผู้ครองนครนั้น และเมื่อขึ้นไปบนยอดเขาสูงนี้ จะเห็นสถูปบรรจุพระอัฐิของพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ประดิษฐานอยู่ป่าดอยอินทนนท์แห่งนี้เป็นป่า 1 ใน 14 แห่ง ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2502 ให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ต่อมาได้มีกฎกระทรวงฉบับที่ 103 (พ.ศ.2502) ออกตามความพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนป่า พ.ศ. 2481 ให้ป่าดอยอินทนนท์ในท้องที่ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2508 กองบำรุง กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 119/2508 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2508 (ขณะนั้นเป็นหมวดอุทยานแห่งชาติ สังกัดกองบำรุง) ให้นายนิพนธ์ บุญทารมณ์ นักวิชาการป่าไม้ตรี ไปทำการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้น และเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2515 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายปรีดา กรรณสูต) ได้มีบัญชาให้นายอุดม ธนัญชยานนท์ นักวิชาการป่าไม้โท ทำการสำรวจทางเฮลิคอปเตอร์เพื่อจัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติตามมติคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2515 ปรากฏว่าป่าดอยอินทนนท์มีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีสภาพทิวทัศน์และเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม และเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด เหมาะสมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติประกอบกับศูนย์อำนวยการร่วม ฝ่ายรักษาความมั่นคงแห่งชาติได้มีหนังสือที่ กห0312/4757 ลงวันที่ 12 เมษายน 2515 เสนอหัวหน้าคณะปฏิวัติ (จอมพลถนอม กิตติขจร)ให้กำหนดป่าดอยอินทนนท์เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และสภาบริหารคณะปฏิวัติได้มีมติเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2515 อนุมัติหลักการให้ดำเนินการได้
กรมป่าไม้จึงดำเนินการจัดตั้งบริเวณที่ดินป่าดอยอินทนนท์ในท้องที่ตำบลบ้านหลวง ตำบลสบเตี้ย ตำบลสองแคว ตำบลยางคราม อำเภอจอมทอง ตำบลแม่วินอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 168,750 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 223 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2515 ลงในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 89ตอนที่ 148 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2515 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 6 ของประเทศ

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จที่บริเวณดอยขุนกลาง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้พิจารณาดำเนินการขยายอาณาเขตของอุทยานแห่งชาติ ออกไปคลุมถึงบริเวณพื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารเพิ่มขึ้นอีก กรมป่าไม้ได้ทำการตรวจสอบและสำรวจเพิ่มเติม ปรากฏว่าตามที่กำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติระบุท้องที่ตำบลแม่ศึก ซึ่งมิได้อยู่ในแนวเขตอุทยานฯ และมิได้ระบุท้องที่ตำบลช้างเคิ่งและตำบลท่าผา ซึ่งอยู่ในแนวเขตอุทยานไว้ในแนวเขตอุทยานดังกล่าว ประกอบกับทางราชการกองทัพอากาศประสงค์ที่จะกันพื้นที่บางส่วนเพื่อก่อสร้างสถานีเรดาร์ เพื่อใช้ในราชการกองทัพอากาศ เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 37 ตารางวา และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ดำเนินการได้ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสงค์ที่จะปรับปรุงขยายแนวเขตอุทยานแห่งชาติออกไป โดยกำหนดป่าสงวนแห่งชาติอินทนนท์ ป่าสงวนแห่งชาติป่าจอมทอง และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติครั้งที่ 1/2518 เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2518 ได้มีมติเห็นชอบ กองอุทยานแห่งชาติกรมป่าไม้ จึงดำเนินการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติทั้ง 3 ป่าจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกำหนดบริเวณป่าดอยอินทนนท์ ในท้องที่ตำบลแม่นาจร ตำบลช้างเคิ่ง ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม ตำบลแม่วิน ตำบลทุ่งปี้ อำเภอสันป่าตองและตำบลสองแคว ตำบลยางคราม ตำบลบ้านหลวง ตำบลสบเตี้ย อำเภอจอมทองจังหวัดเชียงใหม่ เป็นอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2521 ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 95 ตอนที่ 62 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2521 รวมเนื้อที่ 301,500 ไร่ โดยให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 223 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2515

ไม่มีความคิดเห็น: