วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552

สะพานแม่นำแคว


สะพานข้ามแม่น้ำแคว จีนที่ต่อสู้ดิ้นรนและมาตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทย คุณพ่อ เล่าให้ฟังว่า อาก๋งเป็นคนจีนแคะที่นั่งเรือมาจากเมืองจีนและมาตั้งรกรากอยู่ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 ท่านมาแบบตัวเปล่าและมาก่อร่างสร้างตัวโดยใช้วิชาความรู้ที่ติดตัวมา "เป็นหมอแมะ" (ใช้วิธีจับชีพจรเพื่อสามารถตรวจโรคต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีอยู่บ้าง) หลังจากที่ใช้วิชาความรู้เกี่ยวกับการรักษาคนแล้ว อาก๋งก็เริ่มขยับขยายด้วยการเปิดร้านขายยาจีน ซึ่งอาก๋งมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการปรุงยาจีนเป็นอย่างดี จึงทำให้เป็นที่รู้จักและสร้างความไว้วางใจให้กับคนในท่าม่วงในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก และด้วยความขยัน และอดออม ทำให้อาก๋งได้เจอคู่ชีวิตก็คือ อาม่า ซึ่งเป็นคนไทยที่ช่วยกันทำมาหากินจนกระทั่งก่อร่างสร้างตัวและเป็นรากฐานของตระกูลของผู้เขียนมาตั้งแต่รุ่นลูกจนกระทั่งรุ่นหลาน ปัจจุบัน ร้านขายยาที่อาก๋งก่อตั้งขึ้นมาก็ยังเปิดอยู่โดยมีพี่ชายของคุณพ่อเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์(ชื่อร้านอ้วยแซตึ้ง) ฟังเรื่องอาก๋งกับอาม่าแล้วทำให้รู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาทุกครั้ง ที่อาก๋งตั้งต้นชีวิตมาจากศูนย์และสามารถสร้างอะไรต่างๆ มากมายไว้ให้กับรุ่นลูกรุ่นหลาน ทำให้ผู้เขียนที่เป็นหลานคนหนึ่งรู้จักการต่อสู้กับชีวิต มีความพยายามที่จะทำอะไรหลายๆ อย่างให้ประสบความสำเร็จที่มาจากพื้นฐานความอดทน ซึ่งล้วนเป็นแบบอย่างและเป็นเศษเสี้ยวหนึ่งที่ได้มาจากอาก๋ง คุยกับคุณพ่อหลายต่อหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 ตอนนั้นคุณพ่อยังเป็นเด็กอยู่เล่าให้ฟังว่า อำเภอท่าม่วงก็เป็นฐานทัพของญี่ปุ่นอีกแห่งหนึ่ง แม่ค้าในตลาดส่วนมากจะส่งผักขายให้กับทหารญี่ปุ่นเพื่อนำไปทำเป็นอาหารเลี้ยงเชลยที่เป็นทหารฝ่ายพันธมิตร ส่วนที่ร้านขายยาของที่บ้านจะมีทหารญี่ปุ่นมาคอยตรวจดูไม่ให้จำหน่ายยาแก้ปวด เนื่องจากเขากลัวชาวบ้านจะลักลอบนำยาไปให้เชลยศึกที่ชาวญี่ปุ่นจับตัวมา คุณพ่อ บอกว่า ยังเคยแอบเอาของกินไปให้เชลยด้วยเหมือนกัน คุยไปก็นึกขึ้นมาได้ว่าช่วงวันที่ 25 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 5 ธันวาคม จะมีงานสัปดาห์ข้ามแม่น้ำแควที่จังหวัดกาญจนบุรีจัดขึ้นทุกๆ ปี โดยจัดขึ้นที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแคว รวมถึงงาน Light and Sound ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของกลางคืนในทุกปี จังหวัดกาญจนบุรีและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะจัดให้มีงานแสดง แสง สี เสียง เป็นการเล่าถึงเหตุการณ์ในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 โดยจะมีรถไฟจริงๆ วิ่งข้ามสะพานพร้อม แสง สี เสียง รอบทิศทาง เป็นภาพที่ตื่นตาตื่นใจที่จำลองและบรรยายภาพเหตุการณ์ในอดีตและถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อย่างอลังการตระการตาให้ชนรุ่นหลังได้ย้อนรอยไปสู่บรรยากาศแห่งสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลก ครั้งที่ 2 อีกครั้ง รถไฟสายยุทธศาสตร์ผ่านประเทศพม่า มีส่วนหนึ่งจะต้องข้ามแม่น้ำแควใหญ่ การสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก สะพานข้ามแม่น้ำแควตั้งอยู่ที่ตำบลท่ามะขาม ห่างจากตัวเมืองไปทางเหนือตามทางหลวงหมายเลข 323 ประมาณ 4 กิโลเมตร แยกซ้ายประมาณ 400 เมตร มีป้ายเขียนบอกไว้ชัดเจน ใครที่ยังไม่เคยมาเที่ยวงาน ปีนี้ลองมาสัมผัสดูได้ สะพานข้ามแม่น้ำแควเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง และคำขวัญประจำจังหวัดกาญจนบุรีก็คือ "แคว้นโบราณ ด่านเจดีย์ มณีเมืองกาญจน์ สะพานข้ามแม่น้ำแคว แหล่งแร่ น้ำตก" จังหวัดกาญจนบุรีมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ อีกมากมายทั้งโบราณสถาน ปราสาท เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนเขาแหลม น้ำตกไทรโยค น้ำตกเอราวัณ รวมทั้งการล่องแพ แล้วยังมีรีสอร์ตต่างๆ อีกมากมายที่อำนวยความสะดวกและรองรับนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าใครที่มากาญจนบุรีแล้วไม่ได้เดินข้ามสะพานรถไฟก็ถือว่ายังมาไม่ถึงกาญจนบุรี ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควแห่งนี้วันละเป็นจำนวนมากๆ ทำให้ร้านขายของที่ระลึกก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ผู้เขียนมีโอกาสไปเดินหลายต่อหลายครั้ง จำได้ว่าเมื่อหลายปีที่ผ่านมาแวะซื้อเพชรพลอยที่นี่ คนขายจะเป็นคนไทย แต่ปัจจุบันเจ้าของร้านส่วนมากจะเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ที่ข้ามมาจากทางฝั่งพม่ามาจับจองพื้นที่ขายเสียเอง นิลสีดำจะเป็นนิลที่ขึ้นชื่อของกาญจนบุรี และถ้าใครเคยได้ยินชื่ออำเภอบ่อพลอย ที่นี่แหละเป็นต้นกำเนิดของอัญมณีต่างๆ ซึ่งคุณสามารถขับรถไปเที่ยวชมและเลือกซื้อได้ อำเภอบ่อพลอยอยู่ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีไปประมาณ 30 กิโลเมตร ทางรถไฟคุณสามารถเดินข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งได้ซึ่งในตลอดเส้นทางจะมีที่สำหรับแวะถ่ายรูปได้อย่างสะดวกสบาย เราลองมาอ่านประวัติของเส้นทางรถไฟสายมรณะแห่งนี้กันนะคะ ปัจจุบันชาวโลกต่างให้สะพานข้ามแม่น้ำแควเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ประวัติของสะพานอันโหดร้ายมีว่า "ทัพญี่ปุ่นที่มีชัยในภูมิภาคเอเชียต้องการสร้างสะพานรถไฟไปพม่า ซึ่งต้องผ่านแม่น้ำแควใหญ่ ในสมัยนั้นป่าค่อนข้างรกทึบและมีโรคร้ายมากมาย เมื่อปลายปี พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกรุกเข้าไทย มีการสู้รบกัน ภายหลังเจรจาตกลงระงับการสู้รบและรัฐบาลยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ในประเทศไทย และทำการสู้รบต่อไปยังประเทศพม่า อินเดีย ฯลฯ กองทัพญี่ปุ่นได้ก่อสร้างทางรถไฟจากประเทศไทยไปยังพม่าเพื่อขนส่งยุทธสัมภาระ การสร้างทางรถไฟเส้นทางไทย-พม่า เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2485 ช่วงแรกเริ่มจากสถานีหนองปลาดุกถึงกาญจนบุรีระยะทาง 50 กิโลเมตร เป็นทางราบตลอด ส่วนทางกาญจนบุรีถึงสถานีน้ำตก เริ่มมีภูมิประเทศเป็นเนินสูง มีภูเขาเล็กน้อยไม่ถึงกับลาดชันมากนัก แต่จากสถานีน้ำตกขึ้นไปเป็นทางเขามีความชันสูง จนถึงจุดสูงสุดที่เรียกว่า ถ้ำผี จากนั้นจะมีทางลาดลงผ่านหมู่บ้านและตัวน้ำตกไทรโยคถึงท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ ระยะทางรวม 88 กิโลเมตร จากสถานีท่าขนุนไปทางรถไฟจะเลียบลำน้ำแควน้อยขึ้นไปถึงนิเกะ อำเภอสังขละบุรี และไปถึงพรมแดนไทย-พม่า ที่ด่านเจดีย์สามองค์ เป็นระยะทาง 303 กิโลเมตร กองทัพญี่ปุ่นได้สร้างทางรถไฟเข้าไปในพม่าอีก 112 กิโลเมตร ไปบรรจบกับทางรถไฟของพม่าสายมะละแหม่ง-เย ที่สถานีตันบูซายัต การก่อสร้างใช้แรงงานเชลยที่มีทั้งชาวอังกฤษ ฮอลันดา ออสเตรเลีย วันละประมาณ 300 คน วางรางให้ได้วันละประมาณ 1,500 เมตร โดยกองทัพญี่ปุ่นต้องการเร่งรัดให้เสร็จโดยไว เพื่อจะใช้ลำเลียงทหารและยุทธสัมภาระ จึงสร้างพร้อมกันหลายจุดเข้ามาต่อกัน เชลยศึกล้มตายจากเส้นทางช่วงที่ผ่านป่าเขามีไข้ป่าชุกชุม จนได้ชื่อว่าเส้นทาง "รถไฟสายมรณะ" ที่สุดแล้ว เส้นทางสายนี้ก็สำเร็จจากหนองปลาดุกในประเทศไทยถึงตันบูซายัตในพม่า ระยะทาง 415 กิโลเมตร แล้วเสร็จจริง วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2486 เปิดใช้เป็นทางการ วันที่ 25 ตุลาคม ปีเดียวกัน และในปีต่อมา เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2487 สะพานมรณะแห่งนี้ได้ถูกทำลายทิ้งเพื่อตัดเส้นทางการลำเลียงของกองทัพญี่ปุ่นทางอากาศโดยกองกำลังฝ่ายพันธมิตร" สงครามยุติลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ เส้นทางรถไฟสายนี้จึงตกเป็นสมบัติของฝ่ายพันธมิตร จึงจัดการรื้อถอนทางตอนพรมแดนออกเสียส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือในประเทศไทย 300 กิโลเมตร ฝ่ายพันธมิตรเสนอขายทางรถไฟรวมทั้งล้อเลื่อนและวัสดุต่างๆ ให้รัฐบาลไทย 50 ล้านบาทเศษ ปัจจุบัน เพื่อรำลึกอดีตที่แสนจะขมขื่น สะพานเหล็กแห่งนี้จึงได้ถูกบูรณะขึ้นมาใหม่ เส้นทางที่รถไฟผ่าน อาทิ ช่องเขาขาด เป็นตัวอย่างการขุดเจาะอุโมงค์ แรงงานส่วนใหญ่คือเชลยศึกชาวออสเตรเลียซึ่งต้องเสียชีวิตไประหว่างปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 700 ศพ มีชื่อเรียกสถานที่แห่งนี้อีกชื่อหนึ่ง คือ "ช่องไฟนรก (Hellfire Pass Memorial)" เนื่องจากว่าแรงงานเหล่านี้ต้องทำงานทั้งวันทั้งคืนต้องใช้แสงสว่างจากคบเพลิงไม้ไผ่ เล่ากันว่า หากมองลงมาจากที่สูงจะเห็นเหมือนกับเป็นแสงสว่างจากนรกจริงๆ เพราะฉะนั้น การไปเที่ยวงานสะพานข้ามแม่น้ำแคว จึงไม่ใช่เพียงแค่การไปเที่ยวชมมหรสพ หรืองานประจำปีประจำจังหวัดกาญจนบุรีเท่านั้น แต่เปรียบเสมือนการเปิดประตูกลับไปสู่อดีตย้อนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 พร้อมทั้งสัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว และร่วมกันปลุกประวัติศาสตร์ให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง พม่า ซึ่งมีส่วนหนึ่งจะต้องข้ามแม่น้ำแควใหญ่ การสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะความทารุณของสงคราม และโรคภัย ตลอดจนขาดอาหาร ทำให้เชลยศึกจำนวนหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิตลง สะพานข้ามแม่น้ำแคว ตั้งอยู่ที่ตำบลท่ามะขาม ห่างจากตัวเมืองไปทางเหนือตามทางหลวงหมายเลข 323 ประมาณ 4 กิโลเมตร แยกซ้ายประมาณ 400 เมตร มีป้ายเขียนบอกไว้ชัดเจน คุณพ่อ ยังเล่าให้ฟังอีกว่า หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้จากสงครามครั้งนี้ ญี่ปุ่นได้ปล่อยเชลยทั้งหมด ทำให้จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอท่าม่วง และอำเภอใกล้เคียงจะมีร้านอาหาร ผับและบาร์ตั้งอยู่เต็มไปหมด ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดกาญจนบุรีดีขึ้นมาเรื่อยจนถึงปัจจุบันที่กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว และสถานที่หนึ่งที่เป็นความทรงจำสำหรับญาติพี่น้องเชลยศึกสงครามก็คือสุสานอังกฤษ ในแต่ละเดือนจะมีนักท่องเที่ยวและญาติพี่น้องมาเคารพสุสานให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: