วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2552

ใบเตย


ใบเตยหอม สมุนไพรเตยหอมนั้นคนไทยคุ้นเคยกันมานาน เนื่องจากอดีตนิยมนำเตยหอมมาประกอบอาหารและขนมหวาน เช่น ไก่อบห่อใบเตย ใช้แต่งกลิ่นเวลาหุงข้าวเจ้าและข้าวเหนียว หรือนำไปแต่งกลิ่นและสีของขนม เช่น วุ้นกะทิ ขนมชั้น ขนมเปียกปูน ขนมลอดช่อง ขนมขี้หนู จะเห็นได้ว่าเราใช้สมุนไพรเตยหอมมากมาย แต่บางท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าสมุนไพรเตยหอมนั้นมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรอะไรบ้าง เตยหอมมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นว่า ปาแนะวองิง หวานข้าวไหม้ ปาเนถือจิ ปาหนัน พั้งลั้ง เตยหอมจัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ขึ้นเป็นกอ ลำต้นสูงประมาณ 2-3 เมตร ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะและใกล้น้ำ ลำต้นกลมต่อเป็นข้อๆ ข้อที่อยู่ใกล้โคนลำต้นจะมีรากงอกออกมาเพื่อค้ำลำต้น ใบจะออกจากลำต้นเรียงเวียนแน่นรอบลำต้น ใบมีสีเขียว รูปเรียวยาวคล้ายหอก ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ไม่มีหนาม ใบมีกลิ่นหอมเย้น ไม่มีดอก ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อเล็กๆ นำมาปลูก ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาคือ ใบ โดยใบเตยประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยและมีสีเขียวของคลอโรฟิลล์ ซึ่งในน้ำมัะนหอมระเหยประกอบไปด้วยสารหลายชนิด เช่น ไลนาลิลอะซีเตท ( Linalyl acetate) เบนซิลอะซีเตท (Benzyl acetate ) ไลนาโลออล ( Linalool) และเจอรานิออล (geraniol ) และสารที่ทำให้มีกลิ่นหอมคือ คูมาริน ( Coumarin) และเอทิลวานิลลิน ( Ethyl vanillin) เมื่อทราบส่วนประกอบของใบแล้ว มาถึงสรรพคุณของใบเตยหอม ในตำรายาแผนโบราณกล่าวไว้ว่า ใบเตยใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ช่วยลดการกระหายน้ำ ซึ่งเมื่อเรารับประทานน้ำใบเตยจะรู้สึกชื่นใจและชุ่มคอ ส่วนรากใช้เป็นยาขับปัสสาวะและรักษาโรคเบาหวาน ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีการทำศึกษาวิจัย โดยนำน้ำต้มรากใบเตยหอมไปทดลองในสัตว์ทอลองเพื่อดูฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ปรากฏว่าสามารถลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้ ส่วนการศึกษาวิจัยในคน หมอได้นำใบเตยหอมมาผลิตในรูปแบบชาชง บรรจุซองละ 6 กรัม ให้คนปกติรับประทานวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน ผลปรากฏว่า ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานชาชงใบเตยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงนับได้ว่าสมุนไพรใบเตยหอมนั้น เป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ เพื่อเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งให้คนไข้ และสามารถทำรับประทานเองได้ โดยนำใบเตยหอมมาล้างให้สะอาดแล้วหั่นบางๆ ตากแดดให้แห้งนำไปชงกับน้ำร้อนดื่มได้ตลอดเวลา หรือจะนำใบเตยที่หั่นเรียบร้อยแล้วไปคั่วในกระทะโดยใช้ไฟอ่อนๆ จนแห้งดีแล้วก็เก็บในภาชนะที่ปิดฝาสนิท เมื่อจะรับประทานก็นำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม ซึ่งจำนวนครั้งของการดื่มก็ขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาล ถ้าระดับน้ำตาลสูงมาก ควรรับประทานควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน สำหรับผลข้างเคียงของเตยหอมนั้น เท่าที่ได้รักษาคนไข้มายังไม่พบ และคิดว่าไม่น่าจะมีผลข้างเคียงอะไร เพราะเตยหอมนั้นจัดเป็นทั้งอาหารและยา นับได้ว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนไข้โรคเบาหวาน

ไม่มีความคิดเห็น: