วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เกาะหมาก

ไกลจากชายฝั่งที่ท่าเรือแหลมงอบออกไปยังท้องทะเลสีคราม 35 กิโลเมตร มีเกาะๆ หนึ่ง ที่เป็นเจ้าของหาดทรายสวยหลายหาด ร่มรื่นไปด้วยทิวมะพร้าว แม้จะเป็นเกาะไม่ใหญ่เท่าเกาะช้าง แต่ความสวยงามไม่น้อยหน้ากันเลย ที่สำคัญสำหรับผู้ที่ปรารถนาจะมีอาณาจักรส่วนตัว เกาะหมาก คือความฝันที่เป็นจริง

เกาะหมาก เป็นเกาะที่อยู่ในกิ่งอำเภอเกาะกูด มีถนนรอบเกาะ 27 กิโลเมตร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นราบ มีหาดทรายสวยๆ หลายหาด ยังมีเกาะบริวารรายล้อม เกาะหมาก อีกหลายเกาะ เช่น เกาะขาม เกาะระยั้งนอก เกาะระยั้งใน

ท่าเรืออ่าวนิด : อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะ เป็นท่าเรือประจำ เกาะหมาก มีร้านขายของชำ ถือเป็นศูนย์กลางของเกาะก็ว่าได้

อ่าวสวนใหญ่ : มีชายหาดที่สวยและทอดยาวที่สุดของ เกาะหมาก เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามร่มรื่นด้วยป่าสน และต้นมะพร้าว เล่นน้ำได้ เป็นที่ตั้งของ เกาะหมาก รีสอร์ต อยู่ใกล้กับ เกาะขาม ข้ามเรือไปเที่ยวได้

อ่าวขาว : ชายหาดขาวสะอาดสดชื่น สงบเงียบ เล่นน้ำได้ เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามแห่งหนึ่ง

อ่าวฮอลิเดย์ บีช : ตลอดแนวหาดร่มรื่นด้วยสวนมะพร้าว สงบเงียบ เล่นน้ำได้ เป็นที่ตั้งฮอลิเดย์ บีบ รีสอร์ต

อ่าวเลซี่เดย์ บีช : ชายหาดสวย เล่นน้ำได้ ร่มรื่นด้วยสวนมะพร้าว วิวสวย

จุดชมวิวเขาแผนที่ : เป็นบริเวณที่สูงสุดของ เกาะหมาก จึงเห็นวิวทั้งที่ราบเบื้องล่างของ เกาะหมาก และเกาะข้างเคียง


ภาพโดย : www.tripsthailand.com

" เกาะหมาก " มีพื้นที่ 13 ตารางกิโลเมตร (8,125 ไร่) ตั้งอยู่ระหว่างเกาะช้าง เกาะกูด ในท้องทะเลอ่าวไทย จังหวัดตราด อยู่ห่างจากเกาะช้าง 30 กิโลเมตร ห่างจากเกาะกูด 22 กิโลเมตร เกาะหมาก เป็น 1 ใน 9 เกาะ ของหมู่ เกาะหมาก ประกอบด้วย เกาะหมาก เกาะกระดาด เกาะระยั้งใน เกาะระยั้งนอก เกาะผี เกาะขาม เกาะนก เกาะนอก เกาะใน หมู่ เกาะหมากปัจจุบันขึ้นอยู่กับตำบล เกาะหมาก กิ่งอำเภอเกาะกูด มีอยู่เพียง 2 หมู่บ้าน คือหมู่ 1 บ้านอ่าวนิด หมู่ 2 บ้านแหลมสน ประชากรประมาณ 350 คน

สภาพพื้นที่ เกาะหมาก เป็นที่ราบชายฝั่งและภูเขาสูงบางส่วน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนมะพร้าว สวนยางพารา และระยะหลัง 3-4 ปี ที่ผ่านมามีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยรอบ เกาะหมากจะมีหาดทรายขาวสะอาด โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นอ่าว 3-4 อ่าว คือ อ่าวสวนใหญ่ อ่าวพระ อ่าวขาว อ่าวนิด และที่หมู่เกาะใกล้ ๆ มีแหล่งปะการังที่สมบูรณ์ ดังนั้น เกาะหมาก จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของหมู่เกาะใน จังหวัดตราด ซึ่งในปัจจุบัน 2-3 ปีที่ผ่านมา " เกาะหมาก " ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวและพักผ่อนเป็นจำนวนมาก รองจากเกาะช้าง เกาะกูด คาดว่าในอนาคต เกาะหมาก จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดตราด ที่ใครต่อใครต้องการมาสัมผัสกับบรรยากาศที่เงียบสงบ ท่ามกลางธรรมชาติที่บริสุทธิ์และสวยงามที่นับวันจะหายากลงไปทุกที


ภาพโดย : www.tripsthailand.com

หลวงพรหมภักดี ต้นตระกูล "ตะเวทีกุล"...ผู้ตั้งรกรากบน เกาะหมาก เป็นคนแรก

" เกาะหมาก " เป็นเกาะหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมา หรืออดีตที่เป็นประวัติศาสตร์ของเกาะที่น่าสนใจ

เนื่องจากเป็นเกาะเดียวที่พื้นที่เกาะทั้งหมดเกือบ 9,000 ไร่ มีเจ้าของเป็นทายาทของ "ตระกูลตะเวทีกุล" เพียงตระกูลเดียวจากอดีตถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 100 ปีเศษ ทั้งนี้ นายจักรพรรดิ์ ตะเวทีกุล วัย 54 ปี กำนันตำบล เกาะหมาก ในปัจจุบัน และเจ้าของผู้จัดการ เกาะหมาก รีสอร์ตและ เกาะหมาก แฟนตาเซีย ผู้เป็นทายาท รุ่นที่ 4 เล่าว่า หลวงพรหมภักดี (นายเปลี่ยน ตะเวทีกุล) ผู้มีศักดิ์เป็นคุณชวด เป็นผู้เข้ามาครอบครอง เกาะหมาก เป็นคนแรก เมื่อปี พ.ศ.2447 โดยซื้อจากเจ้าของเดิมชื่อ เจ้าสัวเส็ง ปลัดจีนในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเข้ามาจับจองทำสวนมะพร้าวไว้ในราคา 300 ชั่ง (ชั่งละ 80 บาท ) หลวงพรหมภักดีขณะนั้นเป็นปลัดจีนอยู่ที่ จังหวัดประจันตคีรีเขตร์ (เกาะกง ของกัมพูชาในปัจจุบัน) ขณะนั้นเป็นของไทยอยู่ แรกทีเดียวได้ส่งบุตรชาย 3 คน มาทำสวนมะพร้าวอยู่ก่อน คือ นายอู๋ นายเอิบ นายอาบ ตะเวทีกุล ต่อมาเมื่อไทยเสียเมืองตราด หมู่เกาะต่างๆ รวมทั้งเมืองประจันตคีรีเขตร์ให้กับฝรั่งเศสเพื่อแลกกับการที่ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากเมืองจันทบุรี หลวงพรหมภักดียังคงทำมาค้าขายอยู่ที่เกาะปอ เมืองประจันตคีรีเขตร์ จนกระทั่งอีก 6 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2453 จึงได้อพยพครอบครัวมาตั้งรกรากที่ เกาะหมาก ทำสวนมะพร้าวขนาด 3,000-4,000 ไร่ และสร้างบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณอ่าวสวนใหญ่ซึ่งมีหาดทรายอันสวยงาม มองเห็นเกาะข้างเคียงได้ชัดเจน เรียกกันว่า บ้านสวนใหญ่

หลวงพรหมภักดี ได้แต่งงานกับนางมู่ลี่ มีบุตร 7 คน ธิดา 4 คน รวม 11 คน และต่อมาแต่งงานกับนางทิม มีบุตรชายอีก 1 คน เมื่อบุตรสาวโตขึ้นแต่งงานไปใช้นามสกุลของฝ่ายชาย ฝ่ายชายสืบตระกูลตะเวทีกุลมาถึงปัจจุบัน 5-6 ช่วงอายุคนแล้ว สำหรับนายจักรพรรดิ์ ตะเวทีกุล ซึ่งปัจจุบันเป็นกำนันตำบล เกาะหมาก เป็นรุ่นที่ 4 บิดาชื่อ นายสันต์ ตะเวทีกุล มารดา คือ นางเฉลิม ศรีอรุณ ปู่
เมื่อสิ้นหลวงพรหมภักดี ปี พ.ศ. 2458 สวนมะพร้าวและที่ดินทั้งหมดบนเกาะถูกแบ่งเป็นมรดกให้ลูกๆ หลานๆ ทายาทของหลวงพรหมภักดี ซึ่งในยุครุ่นลูกนี้เองได้มีการนำยางพาราเข้ามาปลูกเป็นจำนวนนับ 1,000 ไร่ และมีการสร้างโรงบ่มยางขึ้นภายในบริเวณบ้านสวนใหญ่ ดังนั้น ในปัจจุบันจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าพื้นที่ เกาะหมาก ทั้งหมด 9,500 ไร่ เป็นที่สาธารณประโยชน์ 500 ไร่ ที่เหลือ 9,000 ไร่ ล้วนแต่เป็นของพี่ๆ น้องๆ ในสายตระกูลตะเวทีกุลเพียงตระกูลเดียวเท่านั้น มีบ้างเล็กน้อยที่ขายให้กับคนต่างถิ่นที่มาลงทุนสร้างรีสอร์ทแต่เป็นส่วนน้อยนิด

นับจากปี พ.ศ 2447 ที่หลวงพรหมภักดีได้เป็นเจ้าของ เกาะหมาก มาถึงทายาทในปัจจุบันปี พ.ศ. 2547 รวมระยะเวลา 100 ปี เมื่อวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2547 ที่ผ่านมานี้ กำนันจักรพรรดิ์ ตะเวทีกุล ร่วมกับญาติๆ ทั้งหมดได้ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองรำลึกถึงหลวงพรหมภักดี และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวบน เกาะหมาก โดยจะถือเอางานเฉลิมฉลองนี้เป็นเอกลักษณ์ของชาว เกาะหมาก จัดงานเป็นประจำทุกปี เพราะนับวันการท่องเที่ยวจะเติบโตเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญบนเกาะหมาก อาจจะทำรายได้ให้ชาวบ้านบน เกาะหมาก มากกว่าการทำอาชีพเกษตรกรรม สวนมะพร้าว สวนยางพารา

ไม่มีความคิดเห็น: