วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สะพานข้ามแม่น้ำแคว

สะพานข้ามแม่น้ำแคว เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เนื่องจากประวัติศาสตร์การก่อสร้างสะพานแห่งนี้ เกี่ยวพันกับเหตุการณ์เมื่อครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกพันธมิตรจำนวนมากมาก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์เพื่อผ่านไปยังประเทศพม่า เริ่มต้นจากสถานีหนองปลาดุก อ. บ้านโป่ง จ. ราชบุรี ผ่านสถานีต่าง ๆ ใน จ. กาญจนบุรี เพื่อลำเลียงยุทธปัจจัยและกำลังทหารไปยังพม่า เส้นทางเมื่อข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแควไปแล้วจะเลียบไปตามลำน้ำแควน้อย ผ่านโตรกผาบริเวณที่เรียกว่าถ้ำกระแซ ซึ่งเป็นทางโค้งเลียบนหน้าผา ด้านหนึ่งเป็นแม่น้ำที่เชี่ยวกราก บางช่วงต้องขุดเจาะระเบิดภูเขาเป็นช่องให้รถไฟผ่านไป
การสร้างทางรถไฟสายนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก ความทารุณของสงครามและโรคภัย ตลอดจนการขาดอาหาร ทำให้เชลยศึกชาวตะวันตกได้แก่ อังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย และฮอลันดา และกรรมกรรถไฟหลากเชื้อชาติต้องสังเวยชีวิตไปเป็นจำนวนจำนวนหลายหมื่นคน จนมีการเปรียบเทียบว่าหนึ่งไม้หมอนของทางรถไฟสายมรณะคือหนึ่งชีวิต ซึ่งยังทิ้งร่องรอยไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเป็นจำนวนมากในเรื่องราวความเป็นมาในอดีต
ที่ตั้ง บ้านท่า-มะขาม ต. ท่ามะขาม อ. เมือง
ประวัติ ทหารช่างญี่ปุ่นเลือกสร้างสะพานที่บริเวณนี้เนื่องจากมีฐานดินด้านล่างแน่นที่สุด โดยใช้แรงงานเชลยศึกและกรรมกรรับจ้างจำนวนมาก การก่อสร้างเริ่มจากการสร้างสะพานไม้เพื่อลำเลียงคนและอุปกรณ์ก่อสร้างทางรถไฟข้ามไปก่อน โดยสร้างในช่วงที่น้ำลดลงตอนปลายเดือนพ.ย. 2485 โดยใช้ไม้ซุงทั้งต้นตอกเป็นเสาเข็ม ใช้เวลาก่อสร้าง 3 เดือน และได้รื้อออกไปหลังจากสร้างสะพานเหล็กแล้ว (ปัจจุบันแนวสะพานไม้เดิมอยู่ห่างจากสะพานข้ามแม่น้ำแควลงไปทางใต้ประมาณ 100 ม. ในพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2
ส่วนสะพานข้ามแม่น้ำแควใช้เวลาสร้างเพียง 1 ปี โดยนำเหล็กจากมลายูมาประกอบเป็นชิ้น ๆ ตอนกลางทำเป็นสะพานเหล็ก 11 ช่วง หัวและท้ายเป็นโครงไม้ ตัวสะพานยาวประมาณ 300 ม.สร้างเสร็จและทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2486
สะพานข้ามแม่น้ำแควถูกทหารฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศทั้งสิ้นราว 10ครั้งในระหว่างสงคราม จนกระทั่งสะพานช่วงที่ 4-6 ชำรุด และไม่สามารถใช้การได้ ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงขึ้นใหม่จากของเดิม โดยตอนกลางทำเป็นสะพานเหล็กสองช่วง ส่วนด้านหัวและท้ายเปลี่ยนเป็นสะพานเหล็กหกช่วงแทน

ไม่มีความคิดเห็น: